สภาติง '4จุดอ่อน' งบโควิด นายกฯลั่นเป็นหนี้ร่วมกัน

สภาติง '4จุดอ่อน' งบโควิด นายกฯลั่นเป็นหนี้ร่วมกัน

ถก พ.ร.ก.กู้เงิน วันที่สอง นายกฯ ยันกลางสภา ใช้งบไม่มีทุจริต-เป็นหนี้ร่วมกัน ด้าน รมว.คลัง ย้ำอุ้มเอสเอ็มอีรายย่อย ขณะที่สมาชิกสภาฯ ติง 4 จุดอ่อน พ.ร.ก.เสี่ยงขัดวินัยการเงินการคลัง-กฎหมาย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ เป็นวันที่สองสมาชิกยังคงสลับกันอภิปราย โดยพุ่งเป้าไปยังระบบสาธารณสุข ที่มีประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลกลับมีการบริหารงานที่ผิดพลาด จนส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจตามมา

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ชี้แจงว่า กรณี ส.ส.อภิปรายกล่าวหาว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ยืนยันว่า ส่วนตัวได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของคนไทย รัฐบาลไม่ทิ้งอย่างแน่นอน และจะไม่มีการทุจริต ทุกคนเสียภาษีเหมือนกันหมด พวกท่านเป็นหนี้ตนเองก็เป็นหนี้ด้วย

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า เราต้องบริหารตามกฎหมาย การที่จะให้รัฐบาลจ่ายเงินให้เร็ว ต้องไปดูเรื่องทะเบียน รัฐบาลไม่สามารถล้วงทุกบ้านได้ ในส่วนของการเรียนการสอนของเด็กนั้น รัฐบาลคิดว่าจะต้องทำอย่างไร ให้นักเรียนไม่ลืมการเรียน จึงใช้ระบบออนไลน์ หรือการเรียนทางไกลผ่านดาวเทียม ค่าใช้จ่ายกระทรวงดีอีเอสก็ดูแลให้

“วันนี้ขอบคุณ ส.ส. ท่านกับผมร่วมชาติกันอยู่แล้ว เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายกลาง เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการดำเนินการ ซึ่งผลที่ออกมา ถามว่าดีหรือไม่ ก็ดี คนป่วยไม่มาก ติดเชื้อน้อยลง แต่ถ้าเราไม่ใช้กฎหมายกลางนี้ออกไป ก็จะอลหม่านอีก แล้วแก้ไขไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

คลังยันอุ้มเอสเอ็มอีรายย่อย

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ชี้แจงต่อที่ประชุม กรณีสมาชิกแสดงความกังวลต่อมาตรการเยียวยาของรัฐ ที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบเอสเอ็มอี และรายย่อยว่า กระทรวงการคลังทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และแบงก์รัฐ เพื่อหารือเรื่องการออกมาตรการดูแล ซึ่งออกมาตรการมาแล้ว

เมื่อมีความไม่แน่นอนในเรื่องเศรษฐกิจ เราจำเป็นต้องยึดถือมาตรการเพื่อให้สอดรับกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ได้เห็นชอบมาตรการในการดูแลเอสเอ็มอีและรายย่อยให้ครอบคลุมขึ้น โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนและไม่มีประสบการณ์เข้าถึงเงินทุน จากแหล่งเงินทุน หรือยังไม่เข้มแข็งในเรื่องเงินทุน ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.ก.ที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือในเรื่องซอฟท์โลน

ส่วนมาตรการที่จะออกมา เราขอดูในรายละเอียดก่อน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของกองทุนเพื่อส่งเสริมเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนั้นๆ ไปในตัวด้วย

“อนุทิน”ยัน4.5หมื่นล.เสริมแกร่ง

ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ยืนยันถึงการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ว่า มีมาตรฐานอยู่สูงกว่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก แต่ก่อนหน้านี้แม้จะมีมาตรการป้องกันที่หลุดบ้าง เช่น สนามมวย แต่สามารถติดตามผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา และขยายผลด้านการป้องกันได้ ยอมรับว่า ไทยยอมให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้าพื้นที่ในช่วงแรกของการระบาด แต่หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์สามารถควบคุมและลดการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศ

ส่วนที่ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นรอบ 2 นั้น ยอมรับว่า เกิดขึ้นได้ แต่กระทรวงไม่ได้ประมาท สำหรับการใช้เงินกู้ ส่วนของงานด้าน สธ.วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทนั้น จะจัดสรรงบส่วนหนึ่งให้กับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อค้นหา ทดลองวัคซีนให้ได้ ซึ่งการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินนั้น ตนย้ำว่าเงินทุกบาท ห้ามใช้ในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์หรือใช้แล้วทิ้ง แต่ต้องนำไปพัฒนานวัตกรรม​​องค์ความรู้ เครื่องมือแพทย์ ทำให้มีความพร้อม ทั้งเครื่องมือ เวชภัณฑ์ เทคโนโลยี และความเก่งของแพทย์ ​พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้ประเทศไทย น็อคเอาท์โควิด-19 ให้ได้

ติง 4 จุดอ่อน พ.ร.ก.กู้เงิน

นอกจากนี้สมาชิกยังคงแสดงความกังวล ต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อาทิ นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มองว่า พ.ร.ก.3 ฉบับ ถูกออกแบบเพื่อแก้ไขผลกระทบโควิด-19 ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงที่สุด และโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนไทยไม่สิ้นหวังและให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นเร็วที่สุด

ทั้งนี้มีข้อกังวลและข้อสังเกต 4 ประการ ได้แก่ 1.ไม่มีรายละเอียด เช่น ที่มาของเงินกู้ว่าจะกู้ด้วยวิธีการใด รวมไปถึงยังไม่ได้มีการกำหนดวิธีการช่วยเหลือชัดเจน 2.วิธีการดำเนินการของรัฐบาลอาจไม่ตรงเป้าหมาย เนื่องจากไม่มีคณะกรรมการคัดกรอง ว่าจะปล่อยเงินกู้เพื่อผู้ประกอบการอย่างไร

3.คณะกรรมการคัดกรองมีเพียงเฉพาะใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แต่การฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่ม ต้องใช้วิธีการแตกต่างกัน ดังนั้น คณะกรรมการเพียงชุดเดียว ย่อมไม่มีทางทำได้อย่างแน่นอน

และ 4.กระบวนการตรวจสอบที่ไม่ชัดเจน เพราะการระบุแค่ว่า ให้รายงานการใช้เงินต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายเดือน หรือรายงานการใช้เงินและความคืบหน้าต่อรัฐสภา อาจยังไม่เพียงพอ ที่จะสร้างความมั่นใจได้

ฝาก “3กฎเหล็ก” สู้วิกฤติ

นายเกียรติ อภิปรายอีกว่า ตนมีข้อเสนอ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ต้องปรับสมมติฐานใหม่ เพราะการประมาณการเศรษฐกิจไทย เรามองแบบแง่ดีเกินไป โดยปีนี้อาจติดลบ10% เนื่องจากมีตัวชี้วัดการค้าของโลก 2.ต้องปรับโครงสร้างคณะกรรมการต่างๆ ตาม พ.ร.ก.ให้เกิดความน่าเชื่อถือ
3.วิธีการช่วยเหลือ ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียน แต่สามารถดูจากข้อมูลที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้วได้เลย และ 4.ปรับวิธีการตรวจสอบ โดยต้องไม่พูดแค่ว่าจะโปร่งใส แต่ต้องเปิดข้อมูลแบบเรียลไทม์ และต้องยืนยันว่า การเอาเงินไปใช้ จะต้องเป็นไปเพื่อฟื้นฟู และตรงเป้ากับคนที่ต้องการอย่างแท้จริง

“ที่สำคัญ การที่จะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ จะต้องดำเนินการโดยมีกฎเหล็ก 3 ข้อ คือ 1.แก้วิกฤติต้องคิดลบ พร้อมสยบทุกปัญหา 2.กระสุนมีจำกัด ทุกๆ นัดต้องเข้าเป้า 3.คอร์รัปชันต้องป้องกัน ไม่ใช่ลั่นว่าไม่มี” นายเกียรติ กล่าว

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า งบประมาณที่รัฐบาลเตรียมใช้เพื่อแก้ปัญหา โดยเชื่อว่าจะมียอดรวมกว่า 7 ล้านล้านบาท มาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าปีงบประมาณ 2564 ที่มีกรอบวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท หากใช้เพื่อแก้ปัญหาจริง จะใช้เวลาไม่นาน

แต่ตนกังวลว่า จะมีเม็ดเงินหายไป เพราะมีกลิ่นของการทุจริตเกิดขึ้น เช่น กรณีหักค่าหัวคิวของการจัดหาสถานที่กักกันของรัฐ​ ตามข่าวที่ระบุว่า มีกลุ่มคนเรียกค่าหัวคิว ถึง 40%

ติง พ.ร.ก.เสี่ยงขัดวินัยการคลัง

ด้านนพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย อภิปรายว่า ตนขอให้สภาฯ ​พักหรือเลื่อนการประชุมจนกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะนำเอกสารแนบท้าย พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท นำเสนอต่อสภาฯ เนื่องจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตรา 4 กำหนดให้การกู้เงินเป็นไปตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

ขณะเดียวกัน ตนเชื่อว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงิน นั้นไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ว่าด้วยการรับฟังความเห็นของประชาชน และวิเคราะห์ถึงผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย
สำหรับมาตรา 10 ของ พ.ร.ก.กู้เงิน ที่กำหนดให้รัฐสภารับทราบทุกสิ้นปีงบประมาณภายใน 60 วันนั้น ถือว่าเป็นหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ การขาดรายละเอียด หรือการนำเอกสารแนบท้าย เท่ากับว่ารัฐบาลจงใจตีเช็คเปล่า ด้วยวงเงินสูงสุด 9.5 แสนล้านบาท

กฤษฎีกายืนยันรายละเอียดชัด

ขณะที่นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า การตรา พ.ร.ก.กู้เงินนั้น ได้อาศัยอำนาจของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ตราขึ้นด้วยเหตุผลสำคัญ คือ เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องทำต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบฯรายจ่ายประจำปีได้ทัน

พร้อมยืนยันว่าการตรา พ.ร.ก.ได้เขียนรายละเอียดของการใช้เงินไว้ในบัญชีแนบท้าย ตามบทบัญญัติของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53