นายกฯ ยันหลักการใช้จ่ายเงินชัดเจน 'รักษา-เยียวยา-ฟื้นฟู' ยึดกฎหมาย

นายกฯ ยันหลักการใช้จ่ายเงินชัดเจน 'รักษา-เยียวยา-ฟื้นฟู' ยึดกฎหมาย

"พล.อ.ประยุทธ์" ยันหลักการใช้จ่ายเงินชัดเจน “รักษา-เยียวยา-ฟื้นฟู” ยึดกฎหมาย ไม่ซ้ำซ้อน หวังช่วยเหลือการดำรงชีวิตของประชาชน ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19

วันนี้ (28 พ.ค.63) เวลา 16.15 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  กล่าวชี้แจงการช่วยเหลือคนไทยกลับจากต่างประเทศ การช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา มาตรการช่วยเหลือ SMEs การแก้ไขปัญหาภาคใต้ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้


 
นายกรัฐมนตรีชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องทยอยนำคนไทยในต่างประเทศเดินทางกลับไทยว่า รัฐบาลจำเป็นต้องให้คนไทยในต่างประเทศทยอยเดินทางกลับไทยผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและเข้าสู่สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ โดยรัฐเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ซึ่งไม่สนับสนุนการลักลอบข้ามแดนผ่านแดน แต่ก็ได้มีมาตรการผ่อนปรน เช่น การลดค่าปรับจาก 2,000 บาท เหลือ 800 บาท ในส่วนการจะเพิ่มจำนวนผู้เข้ามาจากต่างประเทศต้องคำนึงให้เพียงพอกับขีดความสามารถในการจัดสถานที่กักกันที่ควบคุมทั้งของรัฐและภาคเอกชน รวมทั้งขีดความความสามารถในการรักษาด้วย ขอยืนยันว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะรัฐบาลถือว่าทุกคนเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย เพราะเป็นกฎหมายของคนทั้งประเทศ


นายกรัฐมนตรีย้ำว่า เข้าใจถึงความยากลำบากของพี่น้องประชาชนและพร้อมจะดูแลการจ่ายเงินให้เหมาะสม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของ อสม. ด้วย ขณะนี้ยังไม่มีการใช้เงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาท เพราะเตรียมพร้อมไว้สำหรับมาตรการสาธารณสุขที่อาจจะยืดยาวต่อไป ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเฝ้าระวังมิให้เกิดการทุจริต 


นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี สำหรับการใช้หนี้ ต้องพยายามทำหนี้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ให้ประเทศก้าวหน้า เพิ่มรายได้ เพิ่มผลผลิตมากขึ้น เพื่อมีกำลังทรัพย์มาเสียภาษี ซึ่งหนี้จำนวนนี้ก็ไม่ได้เกิดในสมัยรัฐบาลชุดนี้แต่สะสมมาก่อนหน้าแล้ว 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ รัฐบาลทำให้จนเหลือ 41 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่กลับขึ้นถึง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพราะจะนำเงินจำนวนนี้มาเพื่อรักษา เยียวยา ฟื้นฟู ให้ประเทศเข้มแข็งขึ้นต่อไป โดยกำหนดกรอบวิธีการบริหารชัดเจนตามกฎหมาย การจะให้รัฐบาลจ่ายเงินให้เร็วก็ต้องลงทะเบียนถูกต้อง รัฐบาลพร้อมจ่ายเงินทั้งหมดแต่ต้องไม่ซ้ำซ้อน เพราะเงินจำนวนนี้ให้เพื่อการดำรงชีพช่วงเกิดสถานการณ์โควิด เป็นเงินดำรงชีพ 3 เดือน สำหรับหลักคิดของรัฐบาลถ้าจะใช้เงินมาก ก็ต้องคิดว่าจะหาเงินมาจากไหนอย่างไร เรียนรู้การปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองด้วย


 
นายกรัฐมนตรีกล่าวมีความเข้าใจและเห็นใจนักศึกษา พยายามหาทางทยอยให้การช่วยเหลือทีละส่วน เช่น คนที่อยู่ในระบบ คนที่ขึ้นทะเบียน เพื่อลดจำนวนการใช้จ่ายลง รวมทั้งมอบนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการ ไปพิจารณาการสอนการเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งโรงเรียนยังเปิดไม่ได้ เพื่อไม่ให้นักเรียนลืมโรงเรียน ลืมการเรียน จึงให้มีการเรียนออนไลน์ เรียนทางไกลผ่านดาวเทียม โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแลค่าใช้จ่าย
 

นายกรัฐมนตรีชี้แจงความจำเป็นของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั้นมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปพิจารณาซึ่งแต่ละจังหวัดอาจมีผลกระทบจากโควิด-19 แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายกลางให้การดูแล ปฏิบัติและข้อห้ามต่าง ๆ เป็นมาตรฐานเดียวกัน หากไม่มีการใช้กฎหมายกลางจะเกิดความสับสนอลหม่าน ทั้งนี้ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี มีคนป่วยไม่มาก ผู้ติดเชื้อน้อยลง แต่รัฐบาลยังไม่สามารถวางใจสถานการณ์เพราะไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไรจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 


 
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ โดยแยกการบริหารภาคเป็น 6 ภาค และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอีก 1 ภาค มีโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจใหม่ภาคใต้ มีการสร้างความเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจกับต่างประเทศ  ส่วนที่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินภาคใต้ เพราะสถานการณ์ยังไม่ยุติ  ยังคงมีการลักลอบทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์และเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินภาคใต้นั้น ไม่ได้ห้ามการเดินทางของประชาชน จะใช้เฉพาะมีเหตุจำเป็นเพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนจำนวนมาก มีการปรับใช้ตามความหนักเบา
 


นายกรัฐมนตรียืนยันไม่ต้องการให้ธุรกิจปิดกิจการหรือเลิกการจ้างงาน รัฐบาลจึงมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs ให้ฟื้นฟูศักยภาพกลับให้ได้รวดเร็ว เมื่อเปิดกิจการต้องมีรายได้กลับเข้ามา สำหรับ SMEs ที่กำลังจะล้มก็มีแผนการฟื้นฟู รวมทั้งดูแลสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการใหม่ที่ยังไม่เข้มแข็งด้วย ด้วยการใช้งบประมาณปี 63 – 65 โดยมีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ กองทุน SMEs รวมทั้งให้ SMEs เข้าถึงอีกหลายกองทุน ขณะเดียวกันก็ปรับความรู้ การทำบัญชี ระบบภาษี นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า หากทุกคนช่วยกัน โดยไม่ถือว่าเป็นฝ่ายใด เพื่อส่งต่อวันนี้เพื่อให้เข้มแข็งต่อไปในวันหน้า ประเทศไทยก็จะไปข้างหน้าได้