กลต.ยันเงินกองทุน‘บล.’ปึ้ก ทดสอบภาวะวิกฤติผ่านฉลุย

กลต.ยันเงินกองทุน‘บล.’ปึ้ก ทดสอบภาวะวิกฤติผ่านฉลุย

“ก.ล.ต.”แจงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ หรือ “เอ็นซี”ของโบรกเกอร์อื่นๆยังแข็งแกร่ง สูงกว่าระดับเฝ้าระวังค่อนข้างมาก รองรับสถานการณ์วิกฤติ “หุ้นร่วงแรง-ลูกค้าผิดนัดชำระนี้”ได้ ด้านบล.เคจีไอ ยันแม้ลงทุนหุ้นกู้เอกชน แต่ไม่ได้รับผลกระทบต้องปรับค่าความเสี่ยง

นับเป็นข่าวสะเทือนวงการโบรกเกอร์ หลังจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เออีซี ถูกระงับการดำเนินธุรกิจ หลังจากที่เงินทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC)ต่ำกว่าศูนย์ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)กำหนด ทำให้มีความกังวลว่าโบรกเกอร์รายอื่นจะมีปัญหาแบบเดียวกัน บล.เออีซีหรือไม่ 

 รายงานข่าวจากสำนักงานก.ล.ต.ระบุว่า ปัจจุบันบล.ทุกแห่ง (ไม่รวมบล.เออีซี) มีNCที่แข็งแกร่งและสูงกว่าระดับที่ต้องเฝ้าระวัง(early warning) ค่อนข้างมาก  และก.ล.ต.ได้มีการทดสอบภาวะวิกฤติ(stress test )เพื่อทดสอบว่าเมื่อมีเหตุการณ์ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรุนแรง หรือมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น บล.จะมี NC รองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้อยู่หรือไม่ ซึ่งจัดทำการทดสอบอย่างต่อเนื่อง จากการทดสอบพบว่า เมื่อดัชนีตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงเกินกว่าระดับที่กำหนดไว้ ทุกบล.ยังคงมี NC เพียงพอรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้อยู่อีกมาก

นายสมชาย กาญจนเพชรรัตน์ กรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมี NC สูงกว่าเกณฑ์ที่ก.ล.ต.กำหนดจำนวนมาก และแม้บริษัทจะมีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน แต่ก็ลงทุนตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดี มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ ที่จะต้องมีการปรับค่าความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปกติ ซึ่งบริษัทมีความระมัดระวังการลงทุน เน้นการลงทุนที่มีความปลอดภัยสูง

สำหรับธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ปีนี้ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยกลับเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์มากขึ้นในส่วนของลูกค้าเดิม และมีลูกค้าใหม่เปิดบัญชีเพิ่ม เพราะดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับตัวลงนั้น ทำให้นักลงทุนมองหาโอกาสการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก ซึ่งการลงทุนในตลาดหุ้นไทยถือว่าสนใจ จากที่ผ่านมาดัชนีปรับตัวลงแรง รวมถึงกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ปรับเกณฑ์การชอร์ตเซลชั่วคราว โดยขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เท่านั้น ช่วยลดความผันผวน ทำให้นักลงทุนกล้าเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้น

อนึ่งจากข้อมูลงบการเงินณ 30 มิ.ย. 2562 บล.เคจีไอ ลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน มูลค่า 370.04 ล้านบาท และมี NCR ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 107.52 %