หนี้บัตรโดยสาร 2 หมื่นล้าน 'การบินไทย' ชี้สภาวะคืนค่าตั๋วไม่ได้

หนี้บัตรโดยสาร 2 หมื่นล้าน 'การบินไทย' ชี้สภาวะคืนค่าตั๋วไม่ได้

“การบินไทย” ยอมรับเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลคืนค่าตั๋วโดยสารไม่ได้ เผย 3 เดือนช่วงโควิด ยอดหนี้ค่าตั๋วโดยสาร 2.4 หมื่นล้าน ยืนยัน 3 มาตรการดูแล รีฟันด์ แลกวอยเชอร์ เลื่อนการเดินทาง

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ส่งผลต่อการดำเนินการของส่วนต่างๆ ทั้งการบริหารงานภายในองค์กร และการดูแลลูกค้าที่ซื้อตั๋วโดยสารไปแล้วและไม่ได้เดินทาง

รายงานข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้การบินไทยจะต้องเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดของการฟื้นฟูกิจการและพักชำระหนี้ ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหนี้ที่เป็นผู้โดยสารถือบัตรโดยสารของการบินไทยและสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส (ROP) ด้วย

ทั้งนี้ จำนวนผู้ถือบัตรโดยสารการบินไทย และสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส ถือเป็นเจ้าหนี้ที่การบินไทยจะต้องเร่งชำระและดูแลความเสียหายอย่างเร็วที่สุด โดยที่ผ่านมาการบินไทยดูแล และเยียวยาผลกระทบของเจ้าหนี้กลุ่มดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการคืนบัตรโดยสาร เลื่อนกำหนดการเดินทาง รวมทั้งเปลี่ยนแปลงบัตรโดยสารเป็น Travel Voucher

“เจ้าหนี้ที่เป็นกลุ่มผู้โดยสารถือบัตรการบินไทย ไม่น่าจะมีจำนวนมากถึง 1 แสนล้านบาทตามที่เป็นข่าว เพราะปัจจุบันมีผู้ถือบัตรที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือน มี.ค.- พ.ค. 2563 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประเมินเบื้องต้นน่าจะมีไม่เกิน 2.4 หมื่นล้านบาท”

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติ การบินไทยจะมียอดจำหน่ายบัตรโดยสารเฉลี่ยเดือนละ 8,000–10,000 ล้านบาท หรือ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนช่วงเดือน มี.ค.–พ.ค.2563 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายบัตรโดยสาร 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนนี้มีผู้โดยสารทยอยขอเลื่อนการเดินทาง คืนบัตรโดยสาร และแลก Travel Voucher บ้างแล้ว อาจทำให้ยอดหนี้ลดลง

“การบินไทย”ยันคืนค่าตั่วไม่ได้

ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร การบินไทย ชี้แจงว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดทำการบินชั่วคราว และผู้โดยสารจำนวนมากไม่สามารถเดินทางได้ การบินไทยได้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนแปลงการเดินทาง โดยขยายอายุบัตรโดยสาร เปลี่ยนบัตรโดยสารให้เป็น Travel Voucher ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับราคาบัตรโดยสารเดิม การขอคืนเงินค่าบัตรโดยสาร (Refund) ภายใน 180 วัน โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

อย่างไรก็ดี ขณะนี้การบินไทย ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทฯ จึงถูกบังคับด้วยข้อกฎหมายทำให้ยังไม่สามารถชำระคืนเงินค่าบัตรโดยสารได้ในขณะนี้การบินไทยต้องขออภัยเป็นอย่างสูงที่ไม่อาจชำระเงินคืนให้ลูกค้ารายต่างๆ ได้ชั่วคราว

รวมทั้งยืนยันว่าการบินไทยมีความตั้งใจที่จะดูแลลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) อย่างดีที่สุดภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างแน่นอน โดยจะแจ้งถึงสิทธิของท่าน และความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีฟื้นฟูกิจการทางช่องทางต่างๆ ต่อไป

นอกจากนี้ การบินไทยเชื่อมั่นว่าจะสามารถก้าวผ่านวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ และกลับมาเป็นองค์กรที่ให้บริการด้านการบินที่แข็งแกร่ง เพื่อความภาคภูมิใจของคนไทย และเพื่อผู้โดยสารทุกที่มีความสำคัญของการบินไทย