สรส. แถลงการณ์ 'ไม่ไว้วางใจ' กระบวนการฟื้นฟูการบินไทย

สรส. แถลงการณ์ 'ไม่ไว้วางใจ' กระบวนการฟื้นฟูการบินไทย

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ "ไม่ไว้วางใจ" กระบวนการฟื้นฟูการบินไทยของรัฐบาล และมีมติจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมต่อสู้ให้ถึงที่สุด

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊คของสมาพันธ์ฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ ฉบับที่ ๑ มติเอกฉันท์องค์กรสมาชิก สรส. แต่งตั้งคณะทำงานฟื้นฟูการบินไทยตามที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย โดยผ่านกระบวนการล้มละลายอันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการฟื้นฟูการบินไทยตามแผนที่ฝ่ายบริหารได้จัดทำขึ้น และได้เสนอผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สังกัดกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อนหน้านี้กว่า ๒ ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ทุกฝ่ายมีการรับรู้ในการดำเนินการทำแผน มีการรายงานทุกครั้งในการประชุม คนร. ยกเว้น สหภาพแรงงานและพนักงานที่ไม่มีส่วนรับรู้แต่ประการใด

จนในที่สุดกระบวนการฟื้นฟูตามแผนเดิมที่ผู้บริหาร สคร. คนร. และ ครม. รับรู้และมีส่วนร่วมนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ปราศจากผู้รับผิดชอบ จนในที่สุดต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและจะค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยฟื้นฟูอีกเป็นจำนวน ๕๔,๐๐๐ ล้านบาท จนสังคมต้องก่นด่าผ่านสื่อออนไลน์รวมทั้งสื่อมวลชนต่างพร้อมใจกันเสนอข่าว และเป็นช่วงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ และรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก. กู้เงิน ๑.๙ ล้านล้านบาทเพื่อเยียวยาประชาชน และยังไม่ทันเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ยังไม่ยื่นต่อศาลล้มละลาย ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานในการฟื้นฟู กระทรวงการคลังก็ได้ขายหุ้นบริษัทการบินไทยออกไปทันทีจำนวน ๖๙ ล้านหุ้น ๆ ละ ๔.๐๓ บาท จำนวนเงิน ๒๗๘ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ๓.๑๗ เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่การบินไทยมีหนี้สินสูงถึง ๒๔๖,๐๐๐ ล้านบาท

ซึ่งการขายหุ้นออกไปจำนวนดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้สถานะหนี้ของการบินไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแต่ประการใด แต่การขายหุ้นออกไปจนกระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยว่าร้อยละ ๕๑ ทำให้บริษัทการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และทำให้การตรวจสอบ การมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูจากพนักงานการบินไทยสิ้นสุดลงตามนัยของกฎหมายเพราะจะทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยสิ้นสภาพไปด้วย จากนี้ไปการดำเนินการก็ปราศจากการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากคนการบินไทย

จากที่กล่าวมาคงกล่าวได้ว่านี่คือ "ขบวนการปล้นการบินไทย สายการบินแห่งชาติ" "คือขบวนการล้มสหภาพแรงงาน" ซึ่งได้พยายามทำมาก่อนหน้านี้และมาบรรลุในสถานการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ และการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และที่สำคัญ "คนที่พยายามทำลายการบินไทย สายการบินแห่งชาติ ตั้งแต่ต้น นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ก็ยังเป็นเสนาบดีในรัฐบาลชุดนี้"

ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อมีเหตุที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยผ่านกระบวนการโดยศาลล้มละลายทุกอย่างต้องหยุด เพื่อรอคำสั่งของศาลว่าให้ดำเนินการอย่างไร แต่กรณีนี้เร่งรีบในการขายหุ้น เร่งรีบแย่งชิงในการเสนอคนของตนเองเข้าไปเป็นคณะทำงาน และคณะกรรมการในการตรวจสอบของรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง...ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเงื่อนงำที่ไม่น่าไว้วางใจ

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีนโยบายที่แจ่มชัดในการต่อต้านการแปรูปรัฐวิสาหกิจ ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ มีองค์กรสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงานทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชนและลูกจ้างภาครัฐ จำนวน ๔๔ แห่ง และมีสาขาภูมิภาค ๙ สาขาและศูนย์ประสานงาน สรส. ประจำจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ได้สื่อสารและหารือกันเป็นระยะในสถานการณ์ที่ผ่านมา และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดและรัฐวิสาหกิจเป็นกำลังอันสำคัญในการเป็นเครื่องมือของรัฐบาล

แต่สำหรับเรื่องการบินไทยกับการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก สรส. จึงได้เชิญประธานสหภาพแรงงานองค์กรสมาชิกทุกแห่ง ที่ปรึกษา และ "คนการบินไทย" มาร่วมประชุมหารือเมื่อวันที่๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่เป็นทิศทางเดียวกันคือ "ไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการในการฟื้นฟูของรัฐบาล" เพราะการฟื้นฟูนั้น ไม่ได้เริ่มที่การค้นหาความจริงและการทำความจริงให้ปรากฏ เพราะทราบกันดีว่าปัญหาที่แท้จริงของการล้มละลายของบริษัทการบินไทย สายการบินแห่งชาติ คือการทุจริต ของนักการเมืองและผู้บริหาร ทั้งทุจริตเชิงนโยบายและการบริหารงานในการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นการจัดซื้อเครื่องบิน การเปลี่ยนเครื่องยนต์ การให้ผู้แทนจำหน่ายบัตรโดยสาร การตั้งบริษัทลูกเพื่อแข่งขันในสายการบินต้นทุนต่ำ เป็นต้น แต่สุดท้ายมาจบลงที่การลดเงินเดือน ใส่ร้ายพนักงานที่ตั้งใจทำงานและยุบสหภาพแรงงาน คือเงื่อนงำที่ไม่อาจไว้วางใจและยอมรับได้

ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะต่อสู้ร่วมกันจนถึงที่สุด เพื่อให้บริษัทการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติต่อไป และได้มีการตั้ง "คณะทำงานฟื้นฟูการบินไทย"

โดยคณะทำงานประกอบด้วยประธานสหภาพแรงงานองค์กรสมาชิกของ สรส. และ "คนการบินไทย" ที่ยังมีจิตใจต่อสู้ โดยมีเลขาธิการ สรส. เป็นประธานคณะทำงาน และจะเชิญภาคี แนวร่วม พันธมิตร ทั้งที่เป็นองค์กรภาคประชาชน องค์การแรงงาน นักวิชาการ ที่ยังคงรัก หวงแหนการบินไทย สายการบินแห่งชาติ และวางจังหวะก้าวในการขับเคลื่อนคู่ขนานกับรัฐบาล และจะแถลงให้ทราบการดำเนินงานเป็นระยะต่อไป ขอให้องค์กรสมาชิกติดตามและร่วมกันขับเคลื่อนตาม มติ สรส. และคณะทำงานต่อไป

"ร่วมปกป้องการบินไทยให้เป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ"

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓