'เกียรติ' ชง 'นายกฯ' วางกฎเหล็กแก้วิกฤตโควิด-19 

'เกียรติ' ชง 'นายกฯ' วางกฎเหล็กแก้วิกฤตโควิด-19 

"ส.ส.ประชาธิปัตย์" เสนอ "ประยุทธ์" วางกฎเหล็ก ฝ่าวิกฤติโควิด-19 หวั่นโปรยเงินกู้ไม่ตรงเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 63 นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา 3 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เกี่ยวกับกู้เงิน ว่า พระราชกำหนด 3 ฉบับถูกออกแบบเพื่อแก้ไขผลกระทบโควิด-19 ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงที่สุด และโจทย์ที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้คนไทยไม่สิ้นหวังและให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นเร็วที่สุด ครั้งนี้เป็นมหาวิกฤตเพราะมีทั้งวิกฤตสาธารณสุข วิกฤตการเงิน กำลังซื้อถดถอย การผลิตถดถออย ซึ่งกระทบทั่วโลกรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี การออกพระราชกำหนดกู้เงินไม่ได้เป็นปัญหา แต่วงเงินกู้อาจจะไม่พอ

นายเกียรติ อภิปรายว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อกังวลและข้อสังเกตุ 4 ประการ ได้แก่ 1.ไม่มีรายละเอียด เช่น ที่มาของเงินกู้ว่าจะกู้ด้วยวิธีการใด รวมไปถึงยังไม่ได้มีการกำหนดวิธีการช่วยเหลือขัดเจน 2.วิธีการดำเนินการของรัฐบาลอาจะไม่ตรงเป้าหมาย เนื่องจากไม่มีคณะกรรมการคัดกรองว่าจะปล่อยเงินกู้เพื่อผู้ประกอบการอย่างไร 3.คณะกรรมการคัดกรองมีเพียงเฉพาะใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 แต่การฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจแต่ละกลุ่มต้องใช้วิธีการแตกต่างกัน ดังนั้น คณะกรรมการเพียงชุดเดียวย่อมไม่มีทางทำได้อย่างแน่นอน และ 4.กระบวนการตรวจสอบที่ไม่ชัดเจน เพราะการระบุแค่ว่าจะรายการใช้เงินต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายเดือนหรือรายงานการใช้เงินและความคืบหน้าต่อรัฐภา อาจยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจได้  

นายเกียรติ อภิปรายต่อว่า ที่สุดแล้วการจะแก้ไขปัญหานี้ส่วนตัวมีข้อเสนอ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ต้องปรับสมมติฐานใหม่ เพราะการประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยเรามองแบบแง่ดีเกินไป โดยปีนี้อาจติดลบ10% เนื่องจากมีตัวชี้วัดว่าการค้าของโลกอาจติดลบประมาณ 20% รวมไปถึงการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังไม่กลับมา หรือแม้แต่สงครามการค้าที่จะรุนแรงมากขึ้น 2.ต้องปรับโครงสร้างคณะกรรมการต่างๆตามพระราชกำหนดให้เกิดความน่าเชื่อถือ ทั้งเรื่องฟื้นฟูและเยียวยา โดยจะต้องมีตัวแทนของกลุ่มธุรกิจที่ต้องฟื้นฟูและเยียวยาเข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย เพื่อให้การช่วยเหลือตรงเป้าหมาย 3.วิธีการช่วยเหลือ ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนแต่สามารถดูจากข้อมูลที่มีอยู่ในระบบอยู่แล้วได้เลย เช่น บัญชีเงินฝากในธนาคาร รวมทั้งต้องเร่งการจ้างงานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และ 4.ปรับวิธีการตรวจสอบ โดยต้องไม่พูดแค่ว่าจะโปร่งใส แต่ต้องเปิดข้อมูลแบบเรียลไทม์ และต้องยืนยันว่าการเอาเงินไปใช้จะต้องเป็นไปเพื่อฟื้นฟูและตรงเป้ากับคนที่ต้องการอย่างแท้จริง

"ที่สำคัญการที่จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้จะต้องดำเนินการโดยมี กฎเหล็ก 3 ข้อ คือ 1.แก้วิกฤตต้องคิดลบ พร้อมสยบทุกปัญหา 2.กระสุนมีจำกัด ทุกทุกนัดต้องเข้าเป้า 3.คอร์รัปชั่นต้องป้องกัน ไม่ใช่ลั่นว่าไม่มี" นายเกียรติ กล่าว