'สภาพัฒน์'ประเมินโควิด- ภัยแล้ง ทำแรงงาน 14 ล้านคนเสี่ยงตกงาน

'สภาพัฒน์'ประเมินโควิด- ภัยแล้ง ทำแรงงาน 14  ล้านคนเสี่ยงตกงาน

“สภาพัฒน์” ประเมินโควิดกระทบจ้างงาน ทำแรงงานเสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน ภัยแล้งซ้ำเติมภาคเกษตรกระทบอีก 6 ล้านคน ประเมินว่างงานระดับสูงสุดปีนี้อยู่ที่ 3-4% ของแรงงานทั้งระบบหรือประมาณ 2 ล้านคน ใกล้เคียงวิกฤติต้มยำกุ้ง ห่วงเด็กจบใหม่กว่า 5 แสนราย หางานยาก

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาส 1/2563 วันนี้ (28 พ.ค.) ว่าในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ “โควิด-19” ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบต่อการว่างงานของแรงงานบางส่วนโดยพบว่าจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 394,520 คน คิดเป็นอัตราว่างง่านประมาณ 1.03% เพิ่มขึ้นจาก 0.92% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.4 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.7%

อย่างไรก็ตามการว่างงานในไตรมาสในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง ที่กระทบต่อการจ้างงานทั้งภาคบริการ อุตสาหกรรม และภาคเกษตร โดยจะทำให้แรงงานในประเทศประมาณ 14 ล้านคนมีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบกับการจ้างงานและการทำงานแบ่งเป็นนอกภาคเกษตร 8.4 ล้านคน และในภาคเกษตร 6 ล้านคน 

โดยแรงงานนอกภาคเกษตร สศช.ประเมินว่าผลกระทบจากโควิิด-19 ส่งผลให้แรงงานนอกภาคเกษตรที่มีความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคนแบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. แรงงานในภาคการท่องเที่ยว ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก ซึ่งมีแรงงานรวม 3.9 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 2.5 ล้านคน 

2.แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีแรงงานในกลุ่มนี้จำนวน 5.9 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 1.5 ล้านคน และ 3.การจ้างงานในภาคบริการอื่นๆที่ไม่ใช่ภาคการท่องเที่ยว และได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่ต่างๆเช่น สถานศึกษา สถานที่ต่างๆ ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก  เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานจำนวน 10.3 ล้านคน โดยกลุ่มนี้คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน 

สำหรับแรงงานในภาคเกษตรในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ที่ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้การจ้างงานในภาคเกษตรลดลง ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 6 ล้านคน 

“การว่างงานจะปรากฎชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ถึงช่วงครึ่งหลังของปี โดยสภาพัฒน์ ได้ประเมินสถานการณ์การว่างงานทั้งปี2563ว่าจะอยู่ที่ประมาณ2ล้านคน หรือ3-4%ของประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี2540และที่ต้องติดตามคือกรณีของบัณฑิตจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ5.2แสนคน อาจจะมีตำแหน่งรองรับไม่เพียงพอตามสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการคงจะจ้างงานเพิ่มไม่มากจึงต้องเตรียมแผนงานรองรับ”