EPG พลิกรง.สู่นวัตกรรมทดแทน แก้เกมหน้ากากแพง..!!

EPG พลิกรง.สู่นวัตกรรมทดแทน แก้เกมหน้ากากแพง..!!

นักประดิษฐ์ ต้องการปลดล็อคจ่ายงบซื้อหน้ากากแพงกว่าเดิม7เท่า หยิบโนว์ฮาวในไลน์ผลิตสินค้าพลิกสู่ EP Kare หน้ากากพลาสติกที่คิดจากโมเดลชามก๋วยเตี๋ยวแห่งแรกของโลก จากทำแจกพนักงานสู่ทำตลาด จดสิทธิบัตรส่งออกประเทศขาดแคลน

เปิดฉากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ปรากฎการณ์ใหม่ที่สั่นสะเทือนวิถีชีวิตไปทุกภาคส่วน ความร้ายกาจของโรคทำให้คนตื่นตะหนกกับสารพันปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน จึงเกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ ตั้งแต่ขาดแคลนหน้ากากอนามัย กักตุนหน้ากากฯ หน้ากากแพงขึ้น5-10 เท่า

ในวิกฤติที่เป็นทั้งภัยคุกคาม แต่ก็สร้างโอกาสธุรกิจ เมื่อเปลี่ยน “ปัญหา” ด้วย “ปัญญา” แทนตกอยู่ในที่คับขันเห็นแต่ทางตัน จากวิธีคิดแก้โจทย์ปัญหาในองค์กร สังคม เปลี่ยนเป็นสินค้าใหม่ที่คนต้องการ

นักประดิษฐ์ผู้ชอบคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อย่าง ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูป แยกเป็น 3 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.ฉนวนกันความร้อน/เย็น แบรนด์ AEROFLEX 2.ชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ แบรนด์ AEROKLAS และ3.บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม แบรนด์ EPP ซึ่งมีโรงงานครอบคลุมกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

159064321585

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับธุรกิจ EPG โดยเฉพาะโรงงานผลิต AEROKLAS ป้อนยานยนต์ที่หยุดผลิตชั่วคราว กำลังซื้อทั่วโลกลดลง แต่ยังถือเป็นสัดส่วนเล็กน้อยหากเทียบกับก่อนเกิดวิกฤติที่มีการทำงานล่วงเวลา(Over Time-OT) พนักงานส่วนใหญ่จึงแค่ถูกลด OT มีเพียงหลัก50-60 คนที่ต้องหยุดงานจากหยุดไลน์การผลิต ส่วนนี้ก็จะถูกโยกไปยังไลน์การผลิตที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าเดิม ที่เมื่อคำสั่งซื้ออาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น

ปัญหาหนักสุด กระตุกนักประดิษฐ์อย่าง ดร.ภวัฒน์ ไม่ยอมรับกับชะตากรรม ก็คือการขาดแคลนหน้ากากฯ จึงต้องระดมสรรพกำลังในองค์กร หวังดัดหลังพ่อค้าที่ค้ากำไรเกินควร ฉวยโอกาสภาวะวิกฤติในสังคมกลัวโรคระบาด ทุกคนแย่งกันซื้อ หน้ากากฯราคาแพงขึ้น 7-8 เท่าจากเคยซื้อกล่องละ 100 บาท เป็นกล่องละ 750-780 บาท เขาเจอกับตัวเมื่อต้องเซ็นอนุมัติจัดซื้อหน้ากากฯเพื่อพนักงานโรงงานละ 80,000 บาท

เรียกว่าต้องซื้อของแพง จึงหันใช้ไลน์การผลิตในโรงงาน พลิกมาผลิตหน้ากากฯ

“ชีวิตที่เป็นนักประดิษฐ์และนักคิดมาตลอด แต่กลับต้องไปอ้อนวอนซื้อหน้ากากฯ 100 กล่องเซ็นเช็คไป 8 หมื่นบาท เพราะทุกคนต่างกลัวไม่มีหน้ากากป้องกัน จึงประชุมหน่วยงานในองค์กรผลิตหน้ากากฯใช้เอง โดยระดมโนว์ฮาว เครื่องจักร เครื่องมือ โดยพนักงานทุกคนช่วยกันคิด”

โดยหน้ากากฯชิ้นแรก ดัดแปลงมาจากสิ่งประดิษฐ์ สิทธิ์บัตรพลาสติกขึ้นรูปชามก๋วยเตี๋ยวสำหรับพกพาที่มีอยู่เดิมจากบริษัทในเครือ EPG ถูกเปลี่ยนเป็นหน้ากากครอบหน้าคนผลิตจากพลาสติกแบรนด์ “EP Kare” เจาะรูให้เส้นผ่าศูนย์กลางสำหรับหายใจผ่านช่องร่องจมูกและปาก ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 500-700 ตารางมิลลิเมตร(ตร.ม.) ปรับฝากครอบให้มีช่องหายใจ โดยแปะผ้ากรอง 3 ชั้น ใช้ซ้ำได้ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง โดยจัดเซ็ท EP Kare 1 ชุด ประกอบด้วย หน้ากาก 1 ชุด และแผ่นกรอง 3 ชุด ใช้งานได้นาน 1 - 2 เดือน หรือประมาณ 60-100 ครั้ง

“ทั้งหมดทุกกระบวนการระดมสมองและผลิตออกมาล็อตแรกที่ทำมือผสมกับเครื่องจักรผลิตได้ 2 แสนชิ้น สำหรับแจกพนักงาน และคนทั่วไป ในช่วงต้นเดือนพ.ค.ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1เดือนกว่า”

จากหน้ากากแก้ขัดสำหรับแจกให้พนักงานในองค์กร่ใช้ กลายเป็นหน้ากากที่ผลิตป้อนความต้องการของตลาด ในยุคโควิด-19 เพราะหน้ากากฯเป็นหนึ่งในสิ่งจำเป็นติดกาย ในภาวะปกติใหม่ (New Normal) สยบพ่อค้าหัวใสชอบกักตุน ด้วยราคาที่ถูกกว่าตลาดหลายเท่า มีต้นทุนถูกกว่าคู่แข่ง เพียงแค่พลาสติกขึ้นรูปราคาต้นทุนเพียง 1 บาท หากรวมกับผ้ากรอง ยางยืดเกี่ยวหู ราคาต้นทุนระดับ ไม่น่าจะเกิน 10-15 บาท

ระหว่างการทำตลาดในประเทศก็ศึกษาการส่งออกไปในประเทศที่EPG มีฐานโรงงานและตัวแทนจำหน่ายกว่า 100 แห่งทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ประชากรจำนวนมาก แต่ยังขาดแคลน คือ อินเดีย จีน และสหรัฐ

“ฐานประชากรส่วนใหญ่มีรายได้น้อย หากต้องใส่หน้ากากเปลี่ยนทุกวันราคาอันละ10-20 บาท ไม่ไหว ดังนั้นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากจำเป็นต้องใช้ประเภทนี้คงทน ราคาถูก ซึ่งมีออเดอร์จากอินเดียเข้ามาแต่ยังไม่พร้อม รอให้การผลิตเต็มกำลังจึงพร้อมส่งออกในล็อตใหญ่”

ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งไปทดสอบห้องแล็บในต่างประเทศเพื่อรับรองสินค้า และจดสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐ จีน นำร่อง เป็นหน้ากากประเภทหน้ากากเอนกประสงค์ ที่ปกป้องเชื้อและฝุ่นได้กว่า 90% โดยคาดว่าจะส่งออกในเฟสที่3 ประมาณช่วงปลายปี ในขั้นต่อไปจะพัฒนาให้กับวงการแพทย์ ใส่สบาย หายใจสะดวกและปกป้อง

159064323192

หลายคนมองว่า การขยายกำลังการผลิตอย่างมากมาย มีความเสี่ยงหากมีคนคิดวัคซีน และยารักษาโรคขึ้นมา ก็ไม่จำเป็นต้องพกหน้ากากฯ แต่เขามองว่า หน้ากากฯก็ยังมีความต้องการในหลายประเทศ กลายเป็นสิ่งพกพา New Normal ที่ปกป้องทั้งเชื้อโรค และ ฝุ่นที่ปัญหาจะวกกลับเข้ามาทุกปี

“แม้จะหมดโควิดหน้ากากฯก็ยังไม่เสี่ยงหากลงทุนขยายโรงงาน เพราะหน้ากากฯจะยังอยู่กับเราไปอีกหลายปี เป็นความเคยชินที่ต้องใช้ และต่อไปปัญหาฝุ่น PM2.5 จะมาทุกปี หน้ากากฯจึงเป็นสิ่งจำเป็น”

ผลของการเป็นองค์กรยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว จึงไม่ใช่แค่เพียงหน้ากาก ที่ต่อยอดจากไลน์ผลิตในโรงงาน กลุ่มธุรกิจพลาสติกสำหรับรถยนต์ ยังสามารถพัฒนาพลาสติกใส ดัดแปลงมาเป็นเฟซชิลด์ ใช้สวมใส่ปกป้องกันละอองน้ำลาย เริ่มส่งออกไปในออสเตรเลียแล้ว ช่วยในการบริหารจัดการแรงงาน โดยการโยกแรงงานบางส่วนที่หยุดผลิตมาช่วยพัฒนาหน้ากาก และผลิตเฟซชิลด์

“โลกไม่เหมือนเดิมเข้าสู่ยุคที่ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนองค์กรตลอดเวลา องค์กรจึงต้องยืดหยุ่น ไม่เทอะทะใหญ่ไป รีสตรัคเจอร์ หาสินค้าใหม่ เช่น เฟซชิลด์ โยกย้ายคนจากอุตสาหกรรมเดิม 50-100 คนที่ยอดขายแนวโน้มลดลงตามเทรนด์โลก โดยการต่อยอดเครื่องจักร วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์องค์ความรู้ที่มีในธุรกิจ”

เขาเผยถึงวิธีคิดทำให้องค์กรอยู่รอดมาจากหลักการบริหาร USE คือ Utilize ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ นำคุณค่าในองค์กรมาใช้ประโยชน์กู้วิกฤติ ทั้งวัตถุดิบ เครื่องจักร องค์ความรู้และนวัตกรรม มาผสมผสาน ให้ตอบโจทย์โลกใหม่, Save คือ ประหยัด ลดต้นทุน ในกระบวนการผลิต และแสวงหาสินค้าใหม่ เพิ่มรายได้ช่องทางใหม่ และ Efficiency  คือการเพิ่มประสิทธิภาพจากสิ่งที่มี โดยเฉพาะคน มีการอบรมพัฒนาบุคลากร (Training) ที่จะช่วยสร้างไอเดียในการค้นหาสิ่งใหม่ ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

ผู้นำองค์กรจะต้องตื่นตัว ตระหนักปัญหา ไม่กลัว มองโลกในแง่ดี มีหลายกลุ่มธุรกิจที่แย่กว่าเรา และเราเตรียมพร้อมมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยการบริหารงานเริ่มใช้ระบบอัตโนมัติ คนจึงเริ่มค่อยๆ ลดลง เพื่อรองรับความเสี่ยงมาตลอด 10 ปี โดยเฉพาะการไม่ใช้เงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น”เขาให้มุมมอง

----------------

สูตรปลดล็อควิกฤติของนักประดิษฐ์

-ดึงนวัตกรรมในองค์กรแก้วิกฤติ

-โยกแรงงานจากไลน์ปิดสู่ไลน์ขยาย

-ตอบแทนสังคม ทดสอบตลาด

-ต่อยอดทำตลาดทั้งในประเทศและส่งออก

-ผู้นำนักคิดเปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส