'ภูมิใจไทย' ขอโอนเงินกู้เข้า สธ. เติมกำลังใจ หลังทำงานเข้าตา

'ภูมิใจไทย' ขอโอนเงินกู้เข้า สธ. เติมกำลังใจ หลังทำงานเข้าตา

"โสภณ" ส.ส.ภูมิใจไทย ขอรัฐบาลเติมเงินให้ สธ. หลังทำงานเข้าตา ด้าน ประชาธิปัตย์ จี้ นายกฯ ไล่ล่าตัวเขมือบโครงการ

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 63 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ วันที่ 2 ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการประชุมเป็นการอภิปรายของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์

นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า วันนี้เรามีความจำเป็นต้องกู้เพื่อรักษาชีวิต เพียงแต่ว่าการรักษาจะถูกวิธีหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอนาคต หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขควรได้รับความชมเชย พระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ สภาฯ ไม่สามารถปรับลดเม็ดเงินได้ แต่สภาฯ สามารถสะท้อนปัญหาและนำข้อมูลมาให้รัฐบาลไปแก้ไข รัฐบาลต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์มากที่สุด สำหรับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน 1.เม็ดเงิน 6 แสนล้านบาท เพื่อการเยียวยาประชาชน และ 2.เม็ดเงิน 4 หมื่นล้านบาทเพื่อการสาธารณสุข ซึ่งเราไม่สามารถเปลี่ยเม็ดเงินได้

นายโสภณ กล่าวว่า ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบสาธารณสุขของไทยได้รับความชื่นชม ทำไมรัฐบาลไม่ปรับ เพราะสาธารณสุขของเราจะถึงเส้นชัยอยู่แล้ว เงิน 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นประมาณ 4% เท่านั้น หากเราเติมเงินเข้าไปจะทำให้สาธารณสุขไทยเป็นพระเอกของโลก เงิน 6 แสนล้านบาท มีเงินที่ใช้กับการพัฒนาระบบสาธารณสุขประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเราไม่สามารถเปลี่ยนเม็ดเงินได้แต่วันนี้ระบบการสาธารณสุขได้รับการชื่นชม ทำไมไม่เติมเม็ดเงินเข้ามาในระบบสาธารณสุขให้มากขึ้น 

"ถ้าเราเติมเพิ่มขึ้นการสาธารณสุขไทยจะเป็นพระเอกในสังคมโลก แม้เราเปลี่ยนเม็ดเงินไม่ได้แต่เราเปลี่ยนวิธีการได้ โดยการเยียวยาต้องมองสองอย่าง ได้แก่ 1.ให้ประชาชนอยู่ได้ 2.เยียวยากลุ่มคนที่ทำหน้าที่ด้านสาธารณสุข เพื่อให้มีขวัญกำลังใจ เพราะเราไม่รู้สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่จึงต้องสร้างขวัญและกำลังใจ" นายโสภณ กล่าว

ด้าน น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และที่ผ่านมาการช่วยเหลือของรัฐบาลยังตกหล่นอยู่พอสมควร โดยเฉพาะการลงทะเบียนที่ขอรับความช่วยเหลือ

"เห็นด้วยกับพ.ร.ก.เงินกู้แต่ไม่เห็นด้วยกับตัวเขมือบโครงการ มันมีทุกที่ อบต. อบจ.ซื้อของแพง นักการเมืองบางคนเอาวิกฤตเป็นโอกาส อยากให้หมดไปจากประเทศ ภาวนาให้มันมีอันเป็นไป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ช้ามากทำงานไม่ทันเลย เงินกู้มหาศาลแล้วตัวเขมือบจะเข้ามาเยอะ อยากให้นายกฯเอาจริงกับตัวเขมือบให้หมดไป ไม่ต้องเกรงใจ ต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบโครงการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน" น.ส.รังสิมา กล่าว