ขนุนอินเดีย ‘โกอินเตอร์’

ขนุนอินเดีย ‘โกอินเตอร์’

ขนุน ผลไม้กลิ่นหวานแหลมเย้ายวนน้องๆ ทุเรียน ที่มีอยู่กลาดเกลื่อนทางชายฝั่งภาคใต้ของอินเดีย กำลังเป็นที่นิยมในฐานะอาหารทดแทนเนื้อสัตว์สำหรับผู้รับประทานมังสวิรัติและวีแกน (Vegan) ในโลกตะวันตก

ผลไม้ชนิดนี้เป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารเอเชียใต้มานานหลายศตวรรษ ด้วยความที่ผลผลิตมีมากแต่ละปีจึงมีขนุนเหลือทิ้งหลายตัน แต่สถานการณ์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่ออินเดียผู้ผลิตขนุนรายใหญ่สุดของโลกกำลังทำเงินกับกระแสความนิยม เหล่าเชฟทั่วโลกตั้งแต่ซานฟรานซิสโกไปจนถึงลอนดอนและเดลีต่างชื่นชมว่านี่คือ “ซูเปอร์ฟู้ด” เนื้อขนุนดิบคล้ายกับเนื้อสุกร นี่จึงเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้กับอินเดีย ผู้ผลิตขนุนรายใหญ่สุดของโลก

“ต่างประเทศสอบถามเข้ามามากเลยครับ ความสนใจขนุนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว” วาร์กิส ทารักคัน เจ้าของสวนผลไม้ในเขตทริสซูร์ รัฐเกรละของอินเดียเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี เขาถึงกับโค่นสวนยางหันมาปลูกขนุนแทน 

ขนุนสุกนั้นจะรับประทานสดก็ได้ หรือนำไปทำเค้ก น้ำผลไม้ ไอศกรีม ทอดกรอบก็เข้าที ส่วนเนื้อขนุนดิบสามารถนำไปแกง ทอด หรือนำไปสับแล้วผัด ในโลกตะวันตกขนุนหั่นฝอยนิยมนำมาใช้แทนเนื้อสัตว์หรือโรยหน้าพิซซ่าด้วย

“ใครๆ ก็ชอบ ทาโกขนุนฮิตทั่วทุกหัวระแหง ขนุนหั่นชิ้นก็สั่งกันทุกโต๊ะ ผมเองก็ชอบเหมือนกัน” อนุ บัมบรี เจ้าของเครือร้านอาหารทั้งในสหรัฐและอินเดียเล่าถึงความนิยมต่อขนุน

ความชื่นชอบในผลไม้ชนิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไป ทั้งนี้สืบเนื่องจากความกังวลเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รายงานสหประชาชาติประจำปี 2562 แนะนำว่า การรับประทานอาหารจากพืชให้มากขึ้นอาจช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ ผู้บริโภคจึงหันมาบริโภคเนื้อที่ทำจากพืชแทนไก่ เนื้อวัว และเนื้อสุกร ส่วนในเอเชียนั้นรู้จักการใช้พืชแทนเนื้อสัตว์มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้หรือถั่วหมักของอินโดนีเซียที่ทำจากถั่วเหลือง เซตันที่ทำจากแป้งสาลี หรือแม้แต่ขนุน

ยิ่งโควิด-19 ระบาดยิ่งทำให้ผู้บริโภคสนใจขนุนมากขึ้น

“ไวรัสโคโรนาทำให้คนไม่กล้ากินไก่ ก็เลยหันไปหาขนุน ในรัฐเกรละ การล็อคดาวน์และข้อห้ามเดินทางข้ามเขตทำให้ผักหายาก ความต้องการขนุนแก่และเม็ดขนุนจึงเพิ่มมากขึ้น” เจมส์ โจเซฟ เล่า เขาเป็นอดีตผู้อำนวยการไมโครซอฟท์ ครั้นตระหนักว่าชาวตะวันตกสนใจขนุนมากจึงตัดสินใจลาออกจากงาน มาทำธุรกิจขายแป้งขนุน ที่นำไปผสมหรือใช้แทนแป้งสาลีและแป้งข้าวเจ้าทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเบอร์เกอร์ หรือเมนูท้องถิ่นอย่างอิดลี อาหารเช้าขึ้นชื่อของเอเชียใต้

โจเซฟร่วมกับมหาวิทยาลัยซิดนีย์ศึกษาประโยชน์ต่อสุขภาพของขนุน พบว่า เมื่อวิเคราะห์ทางโภชนาการ คนที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในเลือด การรับประทานขนุนดีกว่าข้าวหรือโรตี

ตามข้อมูลจากวารสารการแพทย์ “แลนเซ็ต” อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีอัตราผู้ป่วยเบาหวานมากที่สุดในโลก ภายในปี 2573 คาดว่าตัวเลขทะลุหลัก 100 ล้านคน

นอกจากนี้ เมื่อภาวะโลกร้อนเล่นงานภาคเกษตร นักวิจัยอาหารพบว่า ขนุนอาจกลายเป็นพืชอาหารหลักที่เปี่ยมไปด้วยสารอาหาร เพราะทนแล้งได้ดี ไม่ต้องการการดูแลมากนัก

เอส. ราเชนทราน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากGandhigram Rural Institute เผยว่าเฉพาะที่รัฐทมิฬนาดูและเกรละ ตอนนี้ความต้องการขนุนอยู่ที่วันละ 100 ตัน สร้างผลตอบแทนปีละ 19.8 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ขนุนอินเดียก็ต้องเจอคู่แข่งจากบังกลาเทศและไทยด้วย และอีกปัญหาหนึ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกขนุนอินเดียกำลังเผชิญเหมือนกับคนอื่นๆ คือมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน การขนส่งทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ความต้องการขนุนจากต่างประเทศไม่มีทีท่าอ่อนแรงลงเลยสักนิด