'ฝ่ายค้าน' ชกไม่เต็มหมัด 'รัฐบาล' ฟุตเวิร์คเก็บแต้ม

'ฝ่ายค้าน' ชกไม่เต็มหมัด 'รัฐบาล' ฟุตเวิร์คเก็บแต้ม

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก หลังเปิดสมัยประชุมสภาฯ อย่างเป็นทางการ ที่มีวาระการพิจารณาพระราชกำหนด เกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 3 ฉบับ

 ถือว่าเป็น ศึกใหญ่ที่รัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างทำการบ้านมาเป็นอย่างดี

ตลอดวันแรกของการอภิปราย ‘ฝ่ายค้าน’ เน้นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมา ที่เป็นตัวสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น มาตรการของรัฐบาล ที่พยายามสะกด สถิติผู้ติดเชื้อไวรัส ให้ต่ำเป็น “ศูนย์” 

ทั้งการปิดสถานประกอบการ ปิดห้าง เลื่อนเปิดเทอม ห้ามการเคลื่อนย้าย-ขนส่งประชาชน หรือสถานที่ใดๆ ก็ตาม ที่จะเป็นจุดเสี่ยงให้คนรวมตัวและเกิดการติดเชื้อได้

รวมถึง มาตรการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ อย่างเคร่งครัด จนทำให้ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือขาดแคลน เกิดการกักตุน และโก่งราคา เอาเปรียบประชาชน ในช่วงแรกของมาตรการ “กระชับ” พื้นที่ไวรัสโควิด-19

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่ห่วงต่อการใช้เงินกู้ ต่อการเยียวยาเศรษฐกิจ และช่วยเหลือประชาชน ที่มุ่งไปสู่การเรียกความนิยมทางการเมือง ให้กับรัฐบาลเป็นหลัก และเอื้อให้กับกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม ทำให้การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ทั่วถึง

ทั้งนี้ ในข้อท้วงติงของฝ่ายค้านนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ ข้อเสนอให้มีคณะติดตาม ตรวจสอบการทำงาน และใช้เงินกู้ เพื่อให้เป็นไปอย่างโปร่งใส จากหน่วยงานที่ไม่ใช่ “คนของรัฐบาล”

โดยประเด็นดังกล่าว ฝ่ายค้านพยายามชี้ให้เห็นว่า แม้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน “1 ล้านล้านบาท” จะกำหนดให้มีกรรมการกลั่นกรองโครงการ แต่กรรมการเอง มาจากการคัดเลือกของ บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม และส่วนของคนจากรัฐบาลทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การทำการบ้านของฝ่ายค้านนั้น ถึงจะดีในระดับหนึ่ง แต่อาจยัง “ไม่ดีที่สุด” เพราะหากเปรียบเป็นมวยเชิงรุกแล้ว จะพบว่าเป็นเพียงการเดินเข้าหา และออกแรงชกไม่เต็มหมัด 

ประกอบกับวันแรกของการอภิปราย รัฐบาลก็แสดงต่อสภาฯ ให้เห็นถึงการเตรียมตัวทำการบ้านมาเป็นอย่างดี

ดังจะเห็นได้จาก การเตรียมข้อมูลของพระราชกำหนดการกู้เงินของรัฐบาลในอดีต ทั้งโครงการไทยเข้มแข็ง และการบริหารจัดการน้ำมาแสดง รวมไปถึงการเรียบเรียงตัวเลขหนี้สาธารณะ ที่ซับซ้อนมาแสดงต่อสภาฯ ให้เห็นว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้กู้เงินสูงเกิน 

อีกทั้งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง แทบทั้งสิ้น พร้อมกับการยืนยันว่า จะทำรายงานการใช้เงินกู้ตามกฎหมาย มาเสนอต่อรัฐสภา ภายใน 60 วัน หลังจากสิ้นปีงบประมาณนี้

หากประเมินในภาพรวมแล้ว รัฐบาลฟิตร่างกายมาพร้อมกับการรับแรงกระแทกจากฝ่ายค้านได้ดีกว่าเมื่อครั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย เหมือนกับการเต้นฟุตเวิร์ค ที่หนีหมัดชกของฝ่ายค้าน ทำให้อีกฝ่ายต้องออกแรงชกลม เสียแรงไปฟรีๆ

เท่าที่ติดตามการชี้แจงของรัฐบาล เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังอ่านอารมณ์ของสังคมออกเพราะที่ผ่านมา การทำงานของรัฐบาล มีประเด็นที่แคลงใจ ทั้งการจัดโครงการ-งบประมาณ การลงพื้นที่ของ “ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล” ​เพื่อหวังเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง 

พอมาถึงวันประชุมสภาฯ ที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศเฝ้ารอหน้าจอ รัฐบาลจึงไม่ปล่อยโอกาสโกยคะแนนผ่านไป

ดังนั้น การบ้านที่เหลืออีก 4 วัน จึงเป็นงานหนักของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยว่าจะมีข้อมูลอะไรมาขยายแผลของรัฐบาล ตามที่เคยประกาศเอาไว้ เช่นเดียวกับ หมัดเด็ดของรัฐบาลจะงัดกระบวนท่าใด มาเก็บแต้มอีก

สำหรับรัฐบาลแล้ว ชัยชนะและเสียงข้างมากในสภา ที่กำลังจะได้รับนั้น ไม่สำคัญเท่ากับการแสดงความจริงใจต่อการทำให้การบริหารจัดการเงินกู้นี้ อยู่ภายใต้หลักสุจริต 

ไม่ใช่เบื้องหน้าอ้างแต่ความชอบของกฎหมาย แต่เบื้องหลัง มีพฤติกรรมย่อหย่อนกฎหมาย จนทำให้ประเทศและประชาชน ตกอยู่ในสภาพล้มละลายแบบถาวร