เปิด‘กลยุทธ์ 4R’  กุญแจ'รับมือ'โลกหลังโควิด

เปิด‘กลยุทธ์ 4R’   กุญแจ'รับมือ'โลกหลังโควิด

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวง นอกจากไวรัสจะคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกจำนวนกว่าหลายแสนรายแล้ว ยังส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก

ทั้งในด้านภาคการผลิต และความต้องการสินค้าและบริการ รวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตินี้เป็นมากกว่าปัญหาด้านสาธารณสุข แต่กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อภาคธุรกิจและนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลังของทุกประเทศทั่วโลก

แม้ว่าระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดในเวลานี้ดูเหมือนว่าจะอยู่ในวงจำกัด แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่า จะกลับมาทวีความรุนแรงหรือไม่ หรืออนาคตของโลกในภาวะความปกติใหม่ (New Normal) จะเป็นอย่างไร

 “ศิระ อินทรกำธรชัย” ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย  กล่าวว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่ง (Catalyst) กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น เร่งให้ยิ่งเกิดการใช้งานด้านเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวฉุดให้ผลพวงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์ต้องหยุดชะงัก  

“ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ทาง PwC ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 โลกจะถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากกรอบความท้าทายโลก 5 ข้อที่เราเรียกสั้น ๆ ว่า  “ADAPT”  ซึ่งเป็น Secondary effect ที่เป็นผลมาจาก  “5 เมกะเทรนด์”  โดยเราพบว่า การแพร่ระบาดในครั้งนี้ ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ปัญหาเหล่านี้ขยายตัวรวดเร็วกว่าที่คาดไว้”

ทั้งนี้ PwC ได้กำหนดกรอบความท้าทายโลก (ADAPT framework) ดังนี้

1. ความไม่สมดุล (Asymmetry) โควิด-19 จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยคนที่มีฐานะยากจนจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ขณะที่จำนวนชนชั้นกลางจะมีลดน้อยลง (แทนที่จะเพิ่มขึ้น) จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการจ้างงานที่ลดลง

2. การหยุดชะงัก (Disruption) เทคโนโลยีและผลกระทบที่มีต่อมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะยิ่งมีอิทธิพลกับโลกมากกว่าเดิม โดยการเว้นระยะห่างทางสังคม จะทำให้บริษัทเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ รวมถึง วิดีโอสตรีมมิ่งเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยิ่งกระตุ้นให้เกิดการพึ่งพาการทำงานด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

3. อายุ (Age) โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อคนทำงาน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวัยใกล้เกษียณ เพราะเงินบำนาญของผู้สูงอายุอาจไม่เพียงพอ ทำให้คนบางส่วนยังเกษียณไม่ได้ ขณะที่กลุ่มวัยเริ่มทำงานอาจหางานได้ยากขึ้น รวมถึงกลุ่มวัยกลางอาชีพที่มีภาระทางการเงินและไม่สามารถตกงานได้

4. การแบ่งแยก (Polarisation) สถานการณ์ตอนนี้อาจยิ่งทำให้โลกเข้าสู่ยุคที่มีความเป็นชาตินิยมและประชานิยมมากขึ้น โดยความพยายามในการค้นคว้าวัคซีนและเวชภัณฑ์ในการรักษาโรคเพื่อช่วยเหลือประชากรในประเทศ ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องจัดการเป็นอันดับแรก ซึ่งอาจทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านอื่น ๆ ต้องชะลอ หรือเกิดความล่าช้า

5. ความไว้วางใจ (Trust) แนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่น ซึ่งแน่นอนว่า หากบริหารจัดการไม่ดี อาจถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ หรือเมินเฉยต่อข้อปฏิบัติ

 

“ศิระ” ยังได้แนะนำกลุยทธ์ “4R” ซึ่งจะช่วยให้ทั้งภาครัฐและเอกชนรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจาก กลยุทธ์ที่ 1 ซ่อมแซมแก้ไข (Repair) ในระยะสั้นภาครัฐต้องจัดการกับปัญหางบดุล ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ฐานภาษีที่ลดลง และค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น รวมไปถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน ส่วนภาคธุรกิจ ต้องเร่งจัดการกับปัญหางบดุลที่อ่อนแอและรายได้ที่ลดลง รวมถึงจัดการกับห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงันและฐานลูกค้าที่หดหาย

 กลยุทธ์ที่ 2 คือ ต้องคิดใหม่ (Rethink) ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ เช่น ต้องวางแนวทางตอบสนองต่อการแพร่ระบาดในระยะถัดไป และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น หาแหล่งผู้ผลิตทางเลือกกรณีห่วงโซ่อุปทานถูกกระทบจากการหยุดชะงักของภาคการขนส่ง ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนอาจต้องคิดหาตัววัดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และสังคมที่ยั่งยืนกว่า  “จีดีพี” หรือ “กำไรต่อหุ้น” 

กลยุทธ์ที่ 3 ทำใหม่ (Reconfigure) เพื่อให้อยู่บนโลกภาวะความปกติใหม่ได้อย่างลงตัว ทั้งการบริหารเศรษฐกิจและธุรกิจให้ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล รวมถึงนำเทรนด์ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตินี้มาใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น การเรียนออนไลน์ หรือการทำงานทางไกล 

สุดท้าย กลยุทธ์ที่ 4 รายงานอย่างโปร่งใส (Report) เพราะในวิกฤติเช่นนี้ สิ่งที่สาธารณชน นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องการมากที่สุดคือ การรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่เรียลไทม์ และเชื่อถือได้

“แม้การปรับตัวเพื่อรับมือกับเทรนด์ใหม่ ๆ จะท้าทายแนวคิดและวิถีชีวิตแบบเดิม แต่ในมุมกลับกัน ก็เป็นโอกาสให้เราได้ปรับตัวเข้าสู่โลกใบใหม่อย่างยั่งยืนขึ้น ด้วยการคิดใหม่ ทำใหม่ และทำให้ดีกว่า โลกใบเก่าที่เราเคยอยู่ ซึ่งบทเรียนราคาแพงนี้ จะติดอาวุธให้เราทุกคนมีความพร้อม หากโลกต้องเผชิญกับวิกฤติรอบใหม่อีกครั้ง”  ศิระ กล่าว