‘เออีซี’เร่งกู้เงินเติมสภาพคล่อง หวังกลับมาเปิดให้บริการใหม่

‘เออีซี’เร่งกู้เงินเติมสภาพคล่อง หวังกลับมาเปิดให้บริการใหม่

บล.เออีซี เร่งแก้ปัญหา “เอ็นซี” ติดลบ หวังกลับมาเปิดให้บริการใหม่โดยเร็ว เล็งกู้เงิน 100 ล้าน จากนักลงทุน-ผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อเติมเงินกองทุนสภาพคล่อง ด้าน ผู้บริหารยอมรับ ผลกระทบจากหุ้นกู้บินไทย “ดีฟอลท์” ส่งผลไม่สามารถนับเป็นเงินกองทุนได้

วงการโบรกเกอร์ เกิดความปั่นป่วนขึ้น หลังจาก บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ระงับการดำเนินธุรกิจโบรกเกอร์ชั่วคราว เนื่องจากเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ(NC) ต่ำกว่าศูนย์ และทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ต้องพักการซื้อขายหุ้น(H) หุ้น AEC เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา 

โดย บล.เออีซี จะถูกระงับการดำเนินธุรกิจจนกว่าจะแก้ไขให้ NC กลับมาได้ตามเกณฑ์ก.ล.ต. ขณะที่นักลงทุนเองเริ่มกังวลว่า โบรกเกอร์อื่นๆ จะประสบปัญหาเดียวกับ บล.เออีซี หรือไม่ ทำให้สมาคมโบรกเกอร์ต้องออกประกาศชี้แจงกับผู้ลงทุน

ขณะที่ บล.เออีซี แจ้งสาเหตุที่ NC ต่ำเกณฑ์ เนื่องจากได้เข้าลงทุนในหุ้นกู้ THAI (ที่ถูกลดเรทติ้งจาก A เป็น C อย่างกะทันหัน) และหุ้นกู้อื่นที่ถือถึงแม้จะเป็นเรทติ้งระดับ Investment gradeที่สูงมาก ไม่ต่ำกว่า BBB ถึง AA ได้แก่ หุ้นกู้ PTTGC SGP BAMBTS EA FPT ฯลฯ 

ทั้งนี้การลงทุนในหุ้นกู้ข้างต้นมีมูลค่าในแต่ละรายการในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับNC ของบริษัทฯ จึงเป็นเหตุให้บริษัทฯ ต้องคำนวณค่าความเสี่ยงเป็น วิธีที่ 2โดยปรับค่าความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่มีการลงทุนในสัดส่วนที่สูงเกินกว่า 75% เมื่อเทียบกับ NCของบริษัทฯ เป็น 100% ทำให้หุ้นกู้ดังกล่าวไม่สามารถนับเป็น liquid asset ตามหลักการ NC

นายชองอี ไต้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เออีซี กล่าวว่า ก่อนที่ การบินไทย จะถูกลดอันดับเรทติ้ง เป็น C บริษัท มีNC อยู่ที่ 60-70 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ แต่พอการบินไทยถูกลดเรทติ้ง เหลือ C อย่างกะทันหันในเวลาครึ่งเดือนเท่านั้น เพราะ หุ้นกู้การบินไทย ถูกปรับลดเรทติ้ง จาก A เป็น BBB เมื่อวันที่ 16 พ.ค. และถูกปรับเรทติ้งจาก BBB เหลือ C เมื่อวันที่ 19 พ.ค. และเมื่อวันที่ 22 ก.ล.ต.แจ้งให้บริษัทต้องปรับวิธีคำนวณNC เป็นวิธีที่ 2หากโบรกเกอร์ที่มีสัดส่วนการลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับ NC ของบริษัทฯ โดยที่บริษัทไม่ทราบเกณฑ์ดังกล่าวมาก่อน

ทำให้บริษัทต้องปรับการคำนวณค่าความเสี่ยงของหุ้นกู้ที่บริษัทเข้าไปลงทุนทั้งหมด แม้มีเรทติ้งระดับอินเวสต์เม้นท์เกรดเป็น 100 % ส่งผลให้หุ้นกู้ดังกล่าวไม่มีมูลค่า กระทบต่อ NC ของบริษัทติดลบ จากที่มูลค่าหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ที่กว่า 200 ล้านบาท(ไม่รวมหุ้นกู้การบินไทย) เพราะหากบริษัทไม่ต้องปรับการคำนวณค่าความเสี่ยงหุ้นกู้ตัวอื่นๆตามเดิม NC ของบริษัทก็จะไม่ติดลบ แค่ต่ำกว่าเกณฑ์

“เราลงทุนหุ้นกู้การบินไทยมูลค่า 75 ล้านบาท มาปีกว่า เพราะเป็นหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งที่สูงระดับ A และเราเริ่มเห็นทิศทางว่าแนวโน้มธุรกิจการบินไทยไม่ดี จึงคิดที่จะขายหุ้นกู้การบินไทยออกมาตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมา แต่พอเกิดโควิด-19 ระบาด ยิ่งทำให้เราขายออกมายาก และเจอปัญหา ที่มีผู้ลงทุนหนึ่งของการบินไทย ขายหุ้นกู้การบินไทย ในตลาดรอง โดยให้ยิลด์ สูงถึง 10% จากปกติที่ดอกเบี้ยหน้าตั๋วของการบินไทยอยู่ที่ 4% ส่งผลให้ Thaibma บันทึกยิลด์ของหุ้นกู้การบินไทยที่ 10% ทำให้คนที่ถือหุ้นกู้การบินไทยคนอื่นๆมีผลขาดทุนไปด้วย”

สำหรับแผนการแก้ไขNC ให้กลับมาได้ตามเกณฑ์ของก.ล.ต. ซึ่งวิธีที่เร็วสุด คือ การกู้เงินแบบด้อยสิทธิ มูลค่า 100 ล้านบาทจากนักลงทุน ซึ่งอาจเป็นกลุ่มนักลงทุน หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท เพราะการกู้เงินจากสถาบันการเงินทำได้ยาก ซึ่งหากสามารถกู้เงินได้ ก็จะทำให้ NC ของบริษัท กลับมาเป็นบวกประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งหากกู้เงินได้ไม่ตามจำนวนยังมีแนวทางอื่นๆ เช่น การขายเงินลงทุนในหุ้น หรือหุ้นกู้ที่บริษัทถืออยู่ออกมา รวมถึงการเพิ่มทุนจดทะเบียน จากที่คณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัทอนุมัติเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO)และหากขายไม่หมด ก็จะทำการขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง ( PP)ต่อไป

อย่างไรก็ตามบริษัทจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้NC ของบริษัทได้ตามเกณฑ์ของก.ล.ต.เพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติโดยเร็ว  ซึ่งเมื่อที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการแจ้งให้ลูกค้าของบริษัททราบว่าถูกระงับการดำเนินธุรกิจ  เพื่อให้ลูกค้าของบริษัทที่ต้องการโอนพอร์ตหุ้นไปโบรกเกอร์อื่น เพราะบริษัทไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อหุ้นได้  ทำได้เพียงแค่ส่งคำขายหุ้นเท่านั้น โดยปัจจุบันเริ่มมีลูกค้าย้ายพอร์ตไปโบรกเกอร์อื่นบ้างแล้วแต่ยังไม่หมด ซึ่งมีลูกค้าบางรายแจ้งบริษัทว่าไม่ต้องการย้าย