‘ดุสิตฯ-ไมเนอร์’ขุดตำรา รีโอเพ่น‘โรงแรม’สู้โควิด

‘ดุสิตฯ-ไมเนอร์’ขุดตำรา รีโอเพ่น‘โรงแรม’สู้โควิด

สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย คงไม่มี“ความไม่แน่นอน” ครั้งไหนหนักหนาสาหัสเท่าวิกฤติโควิด-19 อีกแล้ว

เพราะนับตั้งแต่โรคอุบัติใหม่นี้เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ธ.ค.2562 จนถึงปัจจุบันนี้ก็ปาเข้าไป 5 เดือน ยังไม่มีใครกล้าฟันธงชัดๆ ว่าสถานการณ์แพร่ระบาดนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการมองตรงกันคือธุรกิจท่องเที่ยวจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป!

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจท่องเที่ยว กระทบต่อดีมานด์นักท่องเที่ยวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยคาดการณ์ว่าปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยเกือบ 40 ล้านคน ล่าสุดได้ปรับลดเหลือ 16 ล้านคน หายไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดิมเคยคาด 172 ล้านคน-ครั้ง ล่าสุดปรับลดเหลือไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน-ครั้ง

“เมื่อธุรกิจโรงแรมต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ซัพพลายห้องพักมีประมาณเดิม แต่รายได้หดตัวเพราะดีมานด์นักท่องเที่ยวหายไป ในขณะที่ต้นทุนบริหารธุรกิจเพิ่มขึ้นจากการยกระดับมาตรฐานใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย ทำให้ทุกโรงแรมจะหันมาแข่งขันกันด้านราคา พร้อมชูจุดขายใหม่ให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกในใจลูกค้า เครือดุสิตธานีจึงได้เปิดตัวบริการ ดุสิตแคร์ ตอบรับวิถีชีวิตแบบใหม่หรือนิวนอร์มอล ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นของบริการ เตรียมสถานที่ให้ลูกค้ามั่นใจ พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยลดการสัมผัส”

ส่วนคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าภาคท่องเที่ยวจะใช้เวลาถึง 2 ปีในการฟื้นตัว มองว่าจะทยอยกลับมาเป็นระยะมากกว่า อย่างระยะแรกในช่วง 6 เดือนนี้จะเริ่มเห็นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศเดินทางเพื่อการพักผ่อนมากกว่าการจัดประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ ส่วนระยะที่ 2 ราวเดือน ก.ย.เป็นต้นไป จะเริ่มเห็นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากตลาดที่บริหารจัดการโรคโควิด-19 ได้ดีและพร้อมออกเดินทาง เช่น จีน ฮ่องกง และเกาหลี ทั้งนี้ขึ้นกับประเทศไทยด้วยว่ามีความพร้อมแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยง ส่วนระยะที่ 3 ราวกลางปี 2564 ตลาดระยะไกลอย่างยุโรปและอเมริกาจะเริ่มกลับมาเที่ยวไทย แต่คงไม่ได้มากเหมือนเมื่อก่อน

ศุภจี เล่าเพิ่มเติมว่าหลังจากโควิด-19 “แช่แข็ง” ทุกอย่าง ทุกธุรกิจทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญเรื่องการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สร้างความพร้อมจากภายใน และถ้าจะลงทุนอะไรสักอย่าง ก็ต้องลงทุนในสิ่งที่ช่วยกระจายความเสี่ยง พร้อมคุมต้นทุน โดยเฉพาะการลดต้นทุนคงที่เพื่อรักษาสภาพคล่อง รวมถึงการใช้กลยุทธ์การบริหารสินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การขายสินทรัพย์แล้วเช่ากลับ(Sale and Lease back)เพื่อกำเงินสดในมือเอาไว้ หากวันใดวันหนึ่งต้องเผชิญวิกฤติอีก

“ปัญหาของวิกฤติโควิดคือความไม่แน่นอน ซึ่งบริหารยากกว่าการบริหารความเสี่ยง เพราะเราไม่รู้จะจบลงเมื่อไร จึงจำเป็นต้องมีแผนสำรองต่างๆ รองรับ”

ก่อนหน้านี้จุฑาทิพ อดุลพันธุ์ รองประธานฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ปัจจุบันโรงแรมในยุโรปของเครือไมเนอร์จำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราวกว่า 90%ขณะที่โรงแรมในละตินอเมริกาปิดกว่า 75%ส่วนพื้นที่ที่เริ่มกลับมาเปิดโรงแรมอีกครั้งในเดือน พ.ค.นี้ หลักๆ คือที่ประเทศจีนและเวียดนาม อัตราเข้าพักเริ่มฟื้นตัวจากดีมานด์ในประเทศ โดยที่จีนมีอัตราเข้าพัก 30-40%ส่วนที่เวียดนามมี 20-30%นับเป็นสัญญาณที่ดี ด้านห้องอาหารของโรงแรมบางส่วนในไทยได้กลับมาเปิดให้บริการตามแนวทางการคลายล็อคของรัฐบาล

“สำหรับแผนขยายโรงแรมใหม่ในช่วง 4 ปี (2563-2566) จำนวน 72 แห่งทั่วโลก คิดเป็น 13,707 ห้องพัก ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ว่าจะสามารถเปิดได้ตามแผนหรือต้องเลื่อนการเปิดโรงแรมบางส่วนหรือไม่”

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ฯ กล่าวเสริมว่า เครือไมเนอร์โฟกัสการรักษาสภาพคล่องและเงินสดในองค์กรให้ได้มากที่สุด เริ่มด้วยการตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างเพื่อลดต้นทุนต่างๆ อาทิ ค่าจ้างบุคลากร ลดเงินเดือนอย่างน้อย 3 เดือนในทุกระดับและทุกพื้นที่ โดยจะพิจารณาเป็นรายไตรมาส รวมถึงการเจรจาขอลดค่าเช่าพื้นที่ ขอส่วนลดจากซัพพลายเออร์ เพื่อลดการรั่วไหลของเงิน คาดว่าปีนี้จะลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ราว 30%ตามเป้าหมาย โดยปัจจุบันบริษัทฯมีกระแสเงินสดในมือกว่า 22,000 ล้านบาท

นอกจากการตัดต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว บริษัทฯยังตัดค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน (CAPEX) บางอย่างออก พร้อมเลื่อนแผนการลงทุนบางส่วนออกไปก่อน จากเดิมในปี 2563 เครือไมเนอร์คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 17,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ได้ปรับแผนลดการใช้เงินลงทุนได้ถึง7,000-10,000ล้านบาท ถือว่าลดไปได้มากพอสมควร โดยเป็นการเลื่อนแผนไปลงทุนในปีถัดๆ ไปแทน