’คาราบาวกรุ๊ป’ ปั้น CLMV หนุนยอดขายสุดสตร็อง

’คาราบาวกรุ๊ป’ ปั้น CLMV  หนุนยอดขายสุดสตร็อง

ธุรกิจที่ยังรักษาการเติบโตกำไรเอาไว้ได้ในนาทีนี้มีจำนวนน้อยมาก ยิ่งเติบโตทั้งด้านยอดขายและยังทำกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยว่าปัจจัยบวกที่ยังหนุนมีอะไรบ้าง

        

ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ดัง ‘คาราบาว’ ของบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG โชว์รายได้ 4,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.8 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสามารถทำกำไรขั้นต้น อยู่ที่ 42.4 % เพิ่มขึ้นจาก 35.4 % และสูงกว่าในช่วงสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 38.5 % ส่งผลทำให้กำไรสุทธิไตรมาสดังกล่าวอยู่ที่ 800 ล้านบาทเพิ่มขึ้นถึง 90 %

หากอิงกับการประเมินของนักวิเคราะห์หลายแห่งปีนี้คาดการณ์ว่ายอดขายเติบโตเกือยเลข 2 หลัก โดยมีตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศ CLMV จะเป็นตัวสร้างรายได้ที่สำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ที่กระทบต่อสินค้าค่อนข้างน้อย บวกกับการออกสินค้าใหม่เข้ามาเสริม การสร้างคลังสินค้าเพื่อกระจายการขายในช่องทางใหม่ๆ มากขึ้น

ขณะที่ในมุมของบริษัทกลับมองการเติบโตก้าวกระโดดมากกว่าปี 2562 แม้จะเผชิญวิกฤติโควิด-19 ก็ตามที ด้วยตัวเลขรายได้รวมปีนี้เติบโตถึง 20 % จากเดิม 10-20% เป็นการเติบโตจากตลาดต่างประเทศมากถึง 30 % ในประเทศ มากกว่า 10 %

หลังมีการขนส่งสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ และการออกเครื่องดื่มแบนรด์ใหม่ C+lock ร่วมกับพิธีกรชื่อดัง ‘วู้ด ดี้’ ซึ่งสร้างยอดขายได้จนเตรียมออกมารสชาติใหม่เพิ่มเติมในกลางปีนี้ ด้วยตัวเลขยอดขายวางไว้ 100 ล้านขวดต่อปี

ส่องความสำเร็จของคาราบาวในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ได้รับผลกระทบจากตลาดในประเทศที่แข่งขันกันสูงและมีเจ้าตลาดกระดูกเบอร์ใหญ่ อย่างกลุ่ม ‘โอสถสภา’ ทำให้เครื่องดื่มชูกำลังเป็นรอง จนต้องใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมืองบุกตลาดต่างจังหวัดและชายขอบจนก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในตลาด ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 21.4 %

เมื่อการจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในประเทศยังไม่ง่ายจึงหันไปทำการตลาดในต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการใช้สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ซื้อสโมสรชื่อดังของอังกฤษ ‘เชลซี’ เป็นใบเบิกทางตลาดในต่างประเทศหลังปูพรมฐานลูกค้าได้ 15 ประเทศทั่วโลกแม้แต่พื้นที่เสี่ยงสงครามเช่น ตะวันออกกลาง ที่ไม่มีใครสนใจทำตลาดแต่คาราบาวกับเจาะเข้าไปได้

พร้อมกับการขยายไลน์สินค้าอื่นและในกลุ่มฟังก์ชั่นนอลดิงก์มากขึ้น อาทิ เครื่องดื่มเกลือแร่ ‘star plus ‘ กาแฟคาราบาว น้ำดื่ม และเครื่องดื่ม C+lock หรือการแยกตัวออกมาตั้งบริษัท ผลิตสุรา ในไทย ด้วยการใช้ความสามารถในการผลิตของ CBG

หลังจากลงทุนสร้างโรงงานผลิตขวดและกระป๋อง รองรับได้ 1,800 ล้านขวดต่อปี 

จากปี2556 อยู่ที่ 850 ล้านขวด ต่อปี และเพิ่มไลน์ผลิตกระป๋องรองรับ 1,560 ล้านกระป๋องต่อปี นอกจากนี้เพิ่มศักยภาพคลังสินค้า ด้วยศูนย์กระจายสินค้าและหน่วยรถเงินสดจำนวน 31 แห่งและ 326 คัน สามารถเข้าถึงร้านค้าได้ถึง 180,000 จุดทั่วประเทศ

จุดเปลี่ยนก้าวสำคัญของ CBG คือการรุกตลาด CLMV ก่อนคู่แข่งสำคัญจะตั้งตัว และปัจจุบันตลาดดังกล่าวสร้างการเติบโตที่สำคัญในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ 36.4 % และสามารถลดผลกระทบจากยอดขายในประเทศที่ลดลงในช่วงวิกฤติโควิด-19 ลดลง 1 % ได้

โดยตลาดสำคัญคือ ประเทศกัมพูชาและ ประเทศเมียนมาร์โดยยอดขายไปประเทศเมียนมาร์และประเทศกัมพูชายังสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ในไตรมาสดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยบวกสำคัญทำให้ราคาหุ้น CGB เดินหน้าบวกสวนภาวะเศรษฐกิจก่อนที่จะปลดล็อกดาวน์ราคากลับมายืนที่ระดับ 100 บาทได้หลังลงไปลึก 46 บาท

ความเนื้อหอมของหุ้น GBG ต้องทำให้ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ ยอมตัดขายหุ้นในพอร์ตตัวเองออกมาทำรายการบิ๊กล็อตให้กลุ่มทุนในจีนจำนวน 22.5 ล้านหุ้น หรือ 2.25 % จากที่ถือทางตรงและทางอ้อมทั้งหมด 34.37 % มีราคาเฉลี่ยที่ทำรายการ 95.00 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่าเม็ดเงิน 2,137.5 ล้านบาท

แน่นอนว่าจะทำให้ตลาดในจีนภายใต้ ‘คาราบาว ‘ มีการเปลี่ยนแปลง ที่น่าสนใจในอนาคตมากขึ้น