“อุตตม”ยันเงินกู้ฉุกเฉินจำเป็นเพื่อกู้วิกฤตโควิด

“อุตตม”ยันเงินกู้ฉุกเฉินจำเป็นเพื่อกู้วิกฤตโควิด

“อุตตม”ยันรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินฉุกเฉินเพื่อเยียวยาผลกระทบต่อประชาชนและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมจากภาวะโควิด-19 ซึ่งการเยียวยาเป็นแนวทางสากลที่ทุกประเทศนำมาใช้ ระบุ ระดับหนี้ที่สูงเป็นเรื่องปกติเมื่อประเทศเกิดวิกฤต

นายอุตตม​ สาวนายน​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจง ต่อสภาผู้แทนราษฎรถึงประเด็นการกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาทว่า​ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินดังกล่าว เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19)นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นวิกฤตสาธารณสุขส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตระดับโลกโดยไตรมาสแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัว 1.8% ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีความท้าทาย ต่อการบริหารเศรษฐกิจตั้งแต่กลางปีที่แล้วนับจากรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศก็ประสบปัญหาความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาสงครามการค้า รัฐบาลก็ได้แก้ไขปัญหา


อย่างไรก็ดี ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้กระทบเฉพาะไทย ประเทศอื่นก็กระทบเช่นกัน โดยจีนหดตัวถึง 6.8% สูงสุดในรอบ 28ปี ฝรั่งเศสหดตัว 5.4% สูงสุดในรอบ71ปี สิงคโปร์หดตัว 2.2% สูงสุดในรอบ11ปี ญี่ปุ่นหดตัว2%


“เศรษฐกิจไทยหดตัว 1.8% ไม่ใช่เราจะสบายใจ เพราะผลกระทบรุนแรงแน่นอน เป็นผลกระทบที่เฉียบพลันและเป็นวิกฤตสาธารณสุข ฉะนั้น เป้าหมายที่รัฐบาลจะต้องดูแลวิกฤตนี้ คือ การเยียวยาผลกระทบทั้งต่อประชาชนและผู้ประกอบการในทันที คือ จะต้องใส่เงินกระเป๋าให้พอยังชีพ”

ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลระบบเศรษฐกิจผ่านผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก เพราะเป็นผู้จ้างงานถึง 80%ของแรงงานทั้งระบบ หากขาดสภาพคล่องจะกระทบต่อธุรกิจ การจ้างงาน และเงินในกระเป๋าของประชาชน ซึ่งจะเป็นวัฐจักรที่จะมากระทบภาพรวมเศรษฐกิจ


นอกจากนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องปกป้องรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ทั้งระบบการเงินและตลาดทุนของประเทศ ซึ่งวันนี้ได้พัฒนาไปมาก จึงพูดไม่ได้ว่า เราจะช่วยคนรวยหรือคนตัวเล็ก เพราะทุกส่วนมีความผูกพันเชื่อมโยงไปหมด ฉะนั้น รัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้วิกฤตสาธารณสุขนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่ลึกและแก้ยาก


เขากล่าวว่า จากเป้าหมายนี้ แนวทางที่รัฐบาลดำเนินการ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ใช้กันทั่วโลก ทั้งไอเอ็มเอาและเวิลด์แบงก์ก็เสนอให้กระตุ้นและเตรียมฟื้นเศรษฐกิจระยะต่อไป ฉะนั้น แนวทางที่เราทำนั้นถือเป็นแนวทางสากล และการกู้เงินก็เป็นแนวทางสุดท้ายของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี การกู้เงินครั้งนี้ เราดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลังและกฎหมายหนี้สาธารณะที่ได้มีการติดตามการใช้เงินทุกระยะ โดยต้องมีการรายงานรายเดือนและทุก3เดือน มีการประเมินผลโครงการต่อสภาฯเมื่อสิ้นปีงบประมาณ


“เมื่อถามว่า เงินกู้ครั้งนี้สมเหตุผลหรือไม่ ขอเรียนว่า รัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบและจำเป็นสำหรับภารกิจโควิด-19 ทั้งการเยียวยา การเพิ่มสภาพคล่อง และ ดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ”


ทั้งนี้ หากเทียบกับการกู้เงินฉุกเฉินในอดีต จะพบว่า เมื่อปี 2541 มีการกู้เงินเพื่อFIDFเรากู้ถึง 11%ต่อจีดีพี คิดเป็น 54% ต่องบประมาณ , ในปี 2545 เรากู้ 14%ของจีดีพี คิดเป็น 76% ของงบประมาณ แต่สำหรับการกู้เงินครั้งนี้ เรากู้ 6%ต่อจีดีพี หรือ 31%ของวงเงินงบประมาณ


เขากล่าวว่า การกู้ดังกล่าว สะท้อนว่า สัดส่วนการกู้ก็ไม่ได้กระโดดจากที่เราเคยกู้ในอดีต ทั้งยังอยู่ภายใต้กฎหมายวินัยการเงินการคลัง โดยตัวชี้วัดในแง่หนี้สาธารณะจะพบว่า สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่เกิน 60% โดยปีหน้าจะอยู่ที่ 57.96% ,สัดส่วนภาระกนี้ต่อประมาณการรายได้ไม่เกิน35% ปีหน้าจะอยู่ที่ 21.2% , สัดส่วนหนี้สาธารณะเงินตราต่างประเทศไม่เกิน10% และ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อรายได้ส่งออกสินค้าและบริการไม่เกิน5% ปีหน้าไม่เกิน1% หรืออยู่ที่ 0.19%


“ขอเรียนว่า ความห่วงใยทุกคนมี เมื่อพูดถึงภาระหนี้ต่อจีดีพีเราไม่นิ่งนอนใจต่ำกว่า 60% เราจะร่วมดูแลให้มีความเข้มแข็ง จะทำตามตัวชี้วัดเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมา หนี้ต่อจีดีพีเราเฉลี่ยที่ 40% เมื่อเทียบกับช่วงที่รัฐบาลก่อนเคยกู้ โดยปี 2540 อยู่ที่ 42% เต็มที่ที่ 59% ปี 57-58 อยู่ที่ 40%ต้นๆ ฉะนั้น จะเห็นว่า เวลาเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะก็จะเพิ่มตามการใช้จ่ายเงินของประเทศเพื่อดูแลประชาชน”


สำหรับการเยียวยาประชาชนนั้น เนื่องจาก เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วไม่คาดคิดการเยียวยาต้องเร็ว แต่ความล่าช้านั้น เป็นเพราะเราใช้งบแผ่นดินจะต้องมีความรัดกุม ขณะที่ ข้อมูลที่ใช้นั้น ไม่ได้พร้อมที่จะทำให้การเยียวยารวดเร็ว นี่คือสาเหตุที่เราต้องให้มีการลงทะเบียน ขณะนี้ เราเยียวยากลุ่มผู้ใช้แรงงานราว 40 ล้านคนแต่ก็มีกลุ่มเปราะบางที่เราต้องเยียวยาต่อ