'วิโรจน์' เห็นด้วยรัฐกู้เงินมาเยียวยาและแก้วิกฤตโควิด

'วิโรจน์' เห็นด้วยรัฐกู้เงินมาเยียวยาและแก้วิกฤตโควิด

"วิโรจน์" ส.ส.ก้าวไกล เห็นด้วยรัฐกู้เงินมาเยียวยาและแก้วิกฤตโควิด แต่แนวคิด "นายทุนมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน" แนะเอาเงินกู้ทั้งหมดรวมกับเงินโอนงบ เป็น 1.088 ล้านล้านบาท แบ่งใช้ 2 ก้อน

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายกฎหมายเงินกู้ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ.2563 / พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 / และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563


โดยถามนายกรัฐมนตรีว่า ที่ชูสองแขนแล้วพูดว่า "ประเทศไทยต้องชนะ" คำว่าประเทศไทย หมายความถึงประชาชนด้วยหรือไม่ เพราะถ้าประชาชนชนะ เหตุใดจึงมีภาพของการไปต่อแถวร้องทุกข์น้ำตาคลอเบ้า ที่หน้ากระทรวงการคลัง จึงเห็นว่าเป็นเพียงการได้มาในสิ่งที่รัฐบาลอยากได้ และยืนอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชน เอากิจการขนาดเล็ก มาเป็นเครื่องสังเวย


ส่วนคำว่า "เราไม่ทิ้งกัน" ก็เป็นการอุ้มชูนายทุนอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีบอร์ดการท่าอากาศยาน ปรับลดค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 63 และค่าเช่าแบบคงที่ ให้ปรับลดลง 20% ตั้งแต่ 1 ก.พ. 63 ถึง 31 ม.ค. 64 รวมทั้งค่าผลตอบแทนแบบเปอร์เซ็นต์ ให้ยกเว้นเงื่อนไขขั้นต่ำรายเดือน และรายปี ตั้งแต่ 1 ก.พ. 63 ถึง 31 มี.ค. 65 แถมยังให้เลื่อนการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน 6 เดือน โดยไม่มีค่าปรับอีกด้วย ซึ่งประเมินกันว่า จะทำให้กำไรของการท่าอากาศยาน ในปี 63-65 รวมกันแล้ว ลดลงถึง 22,536 ล้านบาท ส่งผลให้ราคาหุ้นของการท่าอากาศยานปรับตัวลดลงทันทีในวันที่ 20 ก.พ. คือ 4.80% คิดเป็นความเสียหายที่กระทรวงการคลังต้องรับรู้ทันทีถึง 32,500 ล้านบาท

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการกู้เงินมาใช้แก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ แต่สิ่งที่กังวลและเป็นปัญหาคือ รัฐบาลมีฐานคิดที่ลักลั่นสองมาตรฐาน นายทุนมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน แบบนี้ไม่ถูกต้อง ถ้ารัฐบาลทำงานเป็น พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ จะต้องวางแผนให้สอดคล้องกันกับ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยกฎหมายทั้ง 5 ฉบับนี้ ต้องวางแผนให้สอดคล้อง มียุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยรัฐต้องสื่อให้ประชาชนรับรู้ว่า รัฐบาลกำลังพยายามที่จะปกป้อง สภาพการจ้างงานของพวกเขา ดังนั้นงบก้อนนี้ เป็นเครื่องมือที่จำเป็น แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ จึงเสนอให้จัดสรรเงินใหม่ โดยรวมเอาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เข้ากับเงินที่ได้จากการโอนงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ อีก 88,000 ล้านบาท เป็น 1.088 ล้านล้านบาท ทั้งนี้เงินก้อนนี้ถูกใช้ไปแล้ว 345,000 ล้านบาท กับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเราช่วยกัน และเยียวยาเกษตรกร เหลือที่จัดสรรได้อีก 743,000 ล้านบาท โดยเงินก้อนแรก วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข แบ่งเป็นเงินจำนวน 67,000 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายวัคซีนฟรีสำหรับทุกคน และเงิน 33,000 ล้านบาท สำหรับจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และเพิ่มสวัสดิการให้บุคลากรสาธารณสุข


ส่วนก้อนที่สองวงเงิน 643,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชน แบ่งเป็น ส่วนแรก 504,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชนถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ยกเว้นข้าราชการ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับเงิน 1,000 บาท และเงินอีก 120,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จ่ายเงินเดือนลูกจ้างร้อยละ 50 ของเงินเดือน แต่ไม่เกินรายละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน โดยลูกจ้างต้องเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่านายจ้างห้ามเลิกจ้างในช่วง 3 เดือนที่รับเงินสมทบค่าจ้าง และในก้อนสุดท้าย วงเงิน 19,000 ล้านบาท ใช้จัดสรรอาหารฟรีให้ประชาชน

ขณะที่งบประมาณสำหรับฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะ รวมทั้งสามารถใช้จากงบประมาณแผ่นดินปี 2564 แทนได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง


สำหรับ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลเขียนมา มีรายละเอียดอยู่เพียง 7 หน้า คิดเป็นหน้าละ 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็น บรรทัดละ 6,800 ล้านบาท นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญ ที่พรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติ การระบาดของโรคโควิด-19 และหากรัฐบาลยืนยันในความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของตัวเองจริง ก็ควรให้ความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นจุดชี้ขาด การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลว่า จะลงมติอย่างไรกับ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับนี้