เครือข่ายหนุนใช้สารเคมีเกษตร ยื่นศาลปกครองขอความคุ้มครองชั่วคราวจากการแบนพาราควอต

เครือข่ายหนุนใช้สารเคมีเกษตร ยื่นศาลปกครองขอความคุ้มครองชั่วคราวจากการแบนพาราควอต

ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรจากสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อศาลปกครองวันนี้ เพื่อขอความคุ้มครองชั่วคราวจากกรณีการแบนสารเคมีเกษตร พราราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

โดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และตัวแทนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อภายหลังการเข้ายื่นหนังสือ ว่าได้ขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินและขอให้คุ้มครองชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ทั้งนี้ นายสุกรรณ์ ให้เหตุผลว่า การแบนสารดังกล่าวกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชกว่า 100 ล้านไร่ ที่ยังไม่มีสารทดแทนมาใช้ได้ ขณะนี้ เข้าสู่ช่วงฤดูฝนซึ่ง เป็นฤดูเพาะปลูกของเกษตรกร ถ้าไม่มีสารดังกล่าวจะไม่สามารถเพาะปลูกได้

ขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ออกคำสั่งให้ผู้มีไว้ในครอบครองสารฯ รวมทั้งเกษตรกรต้องนำสารฯไปคืนร้านจำหน่ายใน 90 วัน ร้านจำหน่ายต้องนำสารฯ ไปคืนบริษัทผู้นำเข้าและผู้ผลิตใน 180 วัน ส่วนบริษัทผู้นำเข้าและผู้ผลิตจะต้องนำเสนอแผนการเก็บและทำลายสารฯ ต่อกรมวิชาการเกษตรภายใน 1 ปี โดยกรมวิชาการเกษตรจะไม่รับผิดชอบค่าทำลาย

สำหรับการมีไว้ในครอบครอง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทางด้านเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) กล่าวว่า ในทุกประเทศที่มีการแบนสารพิษเกษตรสำคัญที่มียอดขายมากที่สุดอย่างไกลโฟเซตและพาราควอตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเจ้าของตลาดเป็นทุนต่างชาติ ซึ่งสารเคมีทั้งสองชนิดเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีอิทธิพลสำคัญต่อรัฐบาลและหลายองค์กร

ทางเครือข่ายฯ คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้หลังการแบนสารฯ ว่า อาจมีความพยายามล้มเลิกการแบนได้เช่นกัน โดยยกตัวอย่างการล้มเลิกการแบนสารฯ ในต่างประเทศที่เกิดขึ้น อย่างในมาเลย์เซีย หรือศรีลังกา โดยในมาเลย์เซีย เครือข่ายฯ กล่าวว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและค้าสารพิษเกษตร มีบทบาทสำคัญในการล้มการแบนสารฯ ในมาเลเซียเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว จนมาเลเซียเพิ่งประสบผลสำเร็จในการแบนพาราควอตในต้นปีนี้

เช่นเดียวกับในศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาประกาศแบนไกลโฟเซตมาแล้ว 2 ครั้ง ถูกยกเลิกไปครั้งหนึ่ง และครั้งล่าสุดมีการต่อรองให้คงอนุญาตให้มีการใช้ในยางพาราและชา เป็นต้น

การล้มการแบนไกลโฟเซตที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีสหรัฐที่มีอดีตเคยทำงานกับบริษัทสารพิษมาอย่างยาวนานออกมาแสดงบทบาทผ่านการยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และ กก. วัตถุอันตรายได้มีมติไม่แบนไกลโฟเซต แต่จำกัดการใช้สารในที่สุด

“มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้แบนพาราควอตเมื่อ 22 ตุลาคม 2562 ถูกล้มไปแล้ว ส่วนมติการแบนพาราควอตเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 (ซึ่งยืนยันอีกครั้งปลายเดือนที่แล้ว) และจะมีผลในการแบนในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ก็อาจถูกล้มได้เช่นเดียวกัน โดยการประสานทำงานร่วมกันของกลุ่มองค์กรบังหน้า บริษัทสารพิษ และตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่” เครือข่ายฯ ระบุ พร้อมทั้งเชิญชวนให้มีการตรวจสอบโครงสร้างองค์กรและสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันขององค์กรเหล่านี้ประกอบการวิเคราะห์เหตุผลในการเคลื่อนไหว