เปิดบทวิเคราะห์ IATA ชี้ 'ไทย' ติดโผประเทศอุ้มสายการบิน 'ช้า'

เปิดบทวิเคราะห์ IATA ชี้ 'ไทย' ติดโผประเทศอุ้มสายการบิน 'ช้า'

IATA ชี้ "ไทย" ติดโผประเทศ "ตอบสนองช้า" เรื่องให้ความช่วยเหลือทางการเงินสายการบินเสี่ยงล้มละลาย ร่วมกับอิตาลีและออสเตรเลีย ขณะที่หนี้อุตสาหกรรมสายการบินทั่วโลกอาจพุ่งแตะ 5.5 แสนล้านดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้น 28% จากต้นปี

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยแพร่บทวิเคราะห์เมื่อวันอังคาร (26 พ.ค.) ระบุว่า หนี้อุตสาหกรรมสายการบินโลกอาจพุ่งถึง 5.5 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 17.5 ล้านล้านบาท) ภายในสิ้นปีนี้ เท่ากับว่าบรรดาสายการบินมีหนี้เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 3.82 ล้านล้านบาท) หรือ 28% จากเมื่อต้นปี 2563

ในจำนวนหนี้ใหม่ แบ่งเป็น 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อรัฐบาล 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี 5,000 ล้านดอลลาร์ และการค้ำประกันสินเชื่อ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และอีกก้อนคือ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมาจากแหล่งเงินกู้พาณิชย์ ประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หนี้ตลาดทุน 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ หนี้จากสัญญาเช่าดำเนินงานใหม่ 5,000 ล้านดอลลาร์ และการเข้าถึงสินเชื่อที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน 6,000 ล้านดอลลาร์

นายอเล็กซานเดอร์ เดอ จูนิแอค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) IATA กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ กำลังช่วยเหลือเพื่อรักษาอุตสาหกรรมสายการบินเอาไว้ แต่ความท้าทายต่อไปคือ การป้องกันไม่ให้สายการบินปิดกิจการ เพราะภาระหนี้ที่เกิดจากความช่วยเหลือของรัฐ

IATA ระบุว่า ในภาพรวม รัฐบาลทั่วโลกรับปากให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สายการบิน 1.23 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 6.7 หมื่นล้านดอลลาร์ต้องกันไว้สำหรับใช้หนี้ ขณะที่เงินที่เหลือส่วนใหญ่ใช้กับการอุดหนุนค่าจ้าง 3.48 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นแหล่งระดมทุนผ่านส่วนของผู้ถือหุ้น (equity financing) 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ และอุดหนุนภาษี 9,700 ล้านดอลลาร์

สิ่งเหล่านี้สำคัญมากสำหรับบรรดาสายการบิน ซึ่งคาดว่าจะผลาญเงินสดราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์เฉพาะไตรมาส 2 ไตรมาสเดียว

รายงานของ IATA ชี้ว่า รัฐบาลหลายประเทศเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินแก่สายการบินในช่วงสถานการณ์อันยากลำบาก รวมถึงการอัดฉีดเงินสดเพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย ส่วนรัฐบาลที่ตอบสนองช้าหรือให้อัดฉีดเงินอย่างจำกัด ทำให้มีสายการบินล้มละลาย อย่างที่ปรากฏในออสเตรเลีย อิตาลี ไทย ตุรกี และสหราชอาณาจักร