'โควิด-19' ทำลายความฝัน 'ศึกษาต่อ' นักเรียนเอเชีย

'โควิด-19' ทำลายความฝัน 'ศึกษาต่อ' นักเรียนเอเชีย

"โควิด-19" ทำลายความฝันศึกษาต่อของนักเรียนเอเชียเพราะทำให้จบการศึกษาช้าออกไป แผนการในชีวิตที่วางเอาไว้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ที่สำคัญกว่าจะจบงานที่ต้องการก็มีให้เลือกทำน้อยลง

การระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 นอกจากทำให้การเรียนของบรรดานักเรียนเอเชียในภูมิภาคยุโรปหยุดชะงักแล้ว ยังถือเป็นตัวทำลายความฝันของเหล่านักเรียนชาวเอเชียเพราะทำให้จบการศึกษาช้าออกไป แผนการในชีวิตที่วางเอาไว้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ที่สำคัญกว่าจะจบงานที่ต้องการก็มีให้เลือกทำน้อยลง

ไอริช ซู นักเรียนด้านการตลาด ชาวไต้หวันแม้จะมีวัยแค่ 23 ปี แต่เธอก็มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน เธอฝันที่จะได้ร่วมงานกับบริษัทแฟชั่นชื่อดังในมิลาน และหวังว่าปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จะไม่ขัดขวางเป้าหมายในชีวิตของเธอ

ซู ต้องนอนดึกทุกวันเนื่องจากต้องเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์ หลังจากมาตรการห้ามเดินทางทำให้เธอกลับไปศึกษาต่อที่อิตาลีไม่ได้ โดยเทอมนี้เป็นเทอมสุดท้ายของการศึกษาด้านการตลาดแบรนด์แฟชั่นหรู แต่อนาคตของเธอยังไม่แน่นอน ยังต้องขึ้นอยู่กับการระบาดหนักของโรคโควิด-19 ว่าจะดำเนินไปในทิศทางไหน

“ฉันสมัครเพื่อขอเข้าฝึกงานตามสถาบันด้านแฟชั่นกว่า 20 แห่งในมิลาน แต่ยังไม่มีสถาบันไหนตอบรับมาเลย” ซู เผยกับนิกเคอิ เอเชียน รีวิว ฟัง

จุดที่ซูอาศัยอยู่ อยู่ห่างจากสถาบันแฟชันเป้าหมายที่เธออยากร่วมงานด้วยหลายพันกิโลเมตรและการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมสินค้าหรูหราทั่วโลก แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เธออดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่าสิ่งที่เธอฝันเอาไว้จะเป็นแค่ฝันกลางวันหรือไม่ในสถานการณ์แบบนี้

นักเรียนจำนวนมากที่มีกำหนดจบการศึกษาในปีนี้ต่างลุ้นว่าความฝันจะเป็นจริงหรือไม่ขณะที่ธุรกิจประเภทต่างๆทั่วโลกอยู่ในฐานะยากลำบากโดยถ้วนหน้ากันขณะที่เศรษฐกิจของหลายประเทศเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย

159056374518

บรรดานักเรียนจากเอเชีย โดยเฉพาะนักเรียนจากจีนและอินเดีย เป็นนักเรียนต่างชาติที่มีสัดส่วนมากที่สุดที่ลงทะเบียนเรียนทั่วโลก ในสหราชอาณาจักร มีนักเรียนต่างประเทศไม่ถึง 121,000 คนที่จะเริ่มต้นการศึกษาปีแรกในปีนี้

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกทะยาน 5.5 ล้านราย แต่มีไม่กี่ประเทศที่รู้สึกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะเปิดประเทศ

เช่นกรณีของออสเตรเลีย ซึ่งมีนักศึกษาชาวจีนหลายหมื่นคนลงเรียนระดับวิทยาลัยที่นี่ประกาศห้ามนักเรียน นักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่เดือนก.พ. ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับ หลิว หยุนตัน วัย 25 ปีซึ่งฉลองตรุษจีนกับครอบครัวที่เมืองฉงชิ่ง เธอไม่สามารถกลับมาที่โกลด์ โคสต์เพื่อเรียนให้จมในเทอมสุดท้ายในภาควิชาบริหารจัดการโรงแรม และหลิวก็ค้นพบว่าการเรียนทางออนไลน์เป็นเรื่องยาก เนื่องจากแอพพลิเคชั่นอย่างกูเกิลและวอทส์แอพถูกสั่งห้ามในจีน

“ที่จริงแล้ว ฉันควรจะจบการศึกษาภายในปลายปีนี้ แต่กลับต้องไปจบปี 2564 และตอนนี้ฉันยังไม่ได้รับแจ้งจากรัฐบาลออสเตรเลียให้เดินทางเข้าประเทศได้” หลิว ซึ่งหวังว่าจะได้กลับไปเรียนต่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. กล่าว

นอกจากจะเผชิญปัญหาความยุ่งยากดังที่กล่าวมาแล้ว นักเรียน นักศึกษาต่างประเทศเหล่านี้เจอปัญหาหางานทำยากด้วย เช่นกรณี วรัญ ทัลไซ นักเรียนชาวอินเดียวัย 24 ปี ซึ่งศึกษาด้าน Data Science ในแวนคูเวอร์ สมัครงานตามที่ต่างๆกว่า 100 แห่งตั้งแต่เดือนเม.ย. มีบริษัทที่ตอบรับแค่ 30 แห่งเท่านั้น และจนถึงขณะนี้ บริษัทจำนวนมากตัดสินใจไม่รับสมัครคนงานอีก

“แม้ว่าในอนาคตประเทศต่างๆจะเปิดประเทศ ผมก็ไม่มั่นใจว่าจะหางานทำในอาชีพที่ผมต้องการจริงๆได้” ทัลไซ กล่าว

ผลสำรวจจัดทำโดยบริติช เคาน์ซิล ช่วงเดือนเม.ย.พบว่าในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถาม 1,493 คนจากเอเชียใต้ 29% ของนักเรียนจากอินเดีย และ 35% จากปากีสถานล้วนตัดสินใจเลิกเรียนที่สหราชอาณาจักร หรือมีแนวโน้มที่จะเลิกเรียนในสหราชอาณาจักรในปีนี้

ขณะที่ UKEAS บริษัทที่ปรึกษาด้านการศึกษา ระบุว่า มีแค่ 6% ของนักเรียนจากไทยที่ยืนยันว่าจะเริ่มเรียนในสหราชอาณาจักรในเดือนก.ย. และผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ของ

UKEAS บ่งชี้ว่า นักเรียนชาวไต้หวันมี 8% ฟิลิปปินส์มี 17% และมาเลเซียมี 61%

“นักเรียนจำนวนมากยังไม่ตัดสินใจและรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหราชอาณาจักรก่อนจะตัดสินใจขั้นสุดท้าย” ยิน ลี ผู้จัดการฝ่ายนักศึกษาต่างประเทศของ UKEAS กล่าว

ขณะที่การแข่งขันในแวดวงการศึกษาเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด อย่างกรณีแคนาดาที่มีอัตราการว่างงานในเดือนม.ค. สูงสุดเป็นประวัติการณ์และแรงงานที่มีประสบการณ์จำนวนมากขึ้นที่ถูกกดดันให้หวนกลับสู่ตลาดแรงงาน เพราะฉะนั้นการแข่งขันจึงสูงมาก ทัลไซ จึงไม่มั่นใจว่าในสถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ จะหางานอย่างที่เขาต้องการทำได้

เอมี แลม นักเรียนด้าน Data Science อีกคนในแวนคูเวอร์ ก็มีความกังวลในลักษณะคล้ายๆกัน "คนเริ่มต้นทำงานอย่างฉันมีแนวโน้มสูงมากที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19"

ขณะที่บริษัทจำนวนมากในขณะนี้มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และไม่สามารถให้การฝึกอบรมใดๆ แก่พนักงานใหม่

บางทีการเดินทางกลับฮ่องกงอาจเป็นทางออกที่ดี แต่ไม่ใช่ความคิดของแลม “ถ้าเรามาเรียนต่อต่างประเทศ เราก็อยากได้งานที่ต่างประเทศ” แลม กล่าว และว่า เธอยังคงมองหางานที่ตรงกับที่เธอเรียนมาก่อนเป็นอันดับแรก

“ถ้าฉันหางานทำไม่ได้ ฉันอาจจะทำงานที่ร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ตไปก่อนชั่วคราว” แลม กล่าว