ถึงเวลาใช้ 'ตำราการลงทุน' เล่มใหม่หรือยัง?

ถึงเวลาใช้ 'ตำราการลงทุน' เล่มใหม่หรือยัง?

วิกฤติ COVID-19 รอบนี้เหมือนกับได้เจอประวัติศาสตร์การเงินหน้าใหม่ ที่การปรับฐานกินเวลาประมาณ 1 เดือนที่ตลาดเข้าสู่ภาวะ Bear market และหลังจากนั้นตลาดก็ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทันที แล้วสำหรับการลงทุนนั้น ยังคงใช้ตำราเล่มเดิมได้อยู่อีกหรือไม่ในวิกฤตินี้?

ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และการลงทุน 100 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจถดถอยมักจะมาคู่กับตลาดหุ้นที่ปรับลดลงรุนแรงกินระยะเวลาเฉลี่ยนับปี อย่าง 2 ครั้งล่าสุดก็คือวิกฤติดอทคอมในช่วงปี 2000 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2008 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤติ COVID-19 รอบนี้เหมือนกับเราจะได้เจอประวัติศาสตร์การเงินหน้าใหม่ ที่การปรับฐานกินเวลาเพียงประมาณ 1 เดือนที่ตลาดเข้าสู่ภาวะ Bear market และหลังจากนั้นตลาดก็ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทันที อันเป็นผลมาจากการอัดฉีดทางการเงินที่เร็วและแรงที่สุดที่เคยมีมาของ FED

เมื่อวิกฤติ COVID-19 เกิดขึ้นเราจึงได้เห็นภาพการทำ QE รวดเดียว 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมูลค่าใกล้เคียงกับ QE ทั้ง 3 รอบที่ทำในช่วงปี 2008-2013 รวมกันซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดือนกว่าๆ เท่านั้น โดยในวันแรกที่ FED ออกมาประกาศการทำนโยบายนั้น ตลาดให้ผลตอบรับในเชิงลบ คือไม่เชื่อมั่นในความสามารถของ FED ว่าจะสามารถหยุดยั้งวิกฤติครั้งนี้ได้

แต่หลังจาก FED ดำเนินการปล่อยหมัดชุดออกมาอย่างต่อเนื่องและฉีดเงินเข้าสู่ระบบรวดเดียวนับล้านๆ ดอลลาร์ ตลาดตราสารหนี้ที่ปั่นป่วนอย่างรุนแรง (จนกระทบมาที่กองทุนตราสารหนี้ไทยด้วย) ก็เริ่มสงบลง โดยดูได้จาก Spread ส่วนต่างผลตอบแทนของตราสารหนี้เอกชนกับรัฐบาลที่แคบลง หมายถึงนักลงทุนกลัวบริษัทต่างๆ จะเจ๊งน้อยลง ท่ามกลางภาวะวิกฤติ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

นิตยสาร The Economist ถึงกับขึ้นหน้าปกในเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาเลยว่า The Dangerous Gap “Wall Street Vs Main Street” หมายถึงการที่เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างหนัก แต่ดัชนีหุ้นกลับไม่ลงตาม ส่งผลให้ Valuation ของตลาดที่มักวัดกันในรูป P/E ปรับขึ้นไปสูงมาๆ

ถ้าเราอยู่ที่ตำราการลงทุนเล่มเก่า สิ่งที่เราควรทำคือ “ถือเงินสด” ให้มากไว้ และรอให้ตลาดปรับลงมาอย่างรุนแรงเพื่อเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน ซึ่งล่าสุดวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลกดูเหมือนจะเลือกแบบนั้น ดูได้จากการตัดสินใจขายหุ้นธนาคารอย่าง Goldman Sachs และ JPMorgan รวมถึงการขายหุ้นสายการบินที่ถือไว้ทั้งหมดออกมา

ในระยะยาวผมเชื่อว่าหนี้กองยักษ์ที่ FED ก่อไว้น่าจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่อีกครั้งในวันที่โลกไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์อีกต่อไป แต่ในระยะสั้นดูเหมือนสิ่งนั้นจะยังไม่มาถึง โลกวันนี้ยังอยู่บนพื้นฐานว่าใช้ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินสกุลหลัก และ FED มีความสามารถในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบได้ต่อเนื่อง รวมไปถึงสามารถเข้าไปซื้อพันธบัตรสหรัฐ เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุลได้เรื่อยๆ จึงเป็นไปได้เช่นกันว่าตลาดหุ้นสหรัฐ อาจจะไม่มีการปรับฐานใหญ่อีกแล้ว ในวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรอบนี้ ซึ่งดูเหมือนว่า ณ เวลานี้นักลงทุนในตลาดจะเริ่มเทไปที่ New investment playbook หรือตำราการลงทุนเล่มใหม่กันเยอะทีเดียว ซึ่งเราจะได้เห็นคำตอบของเรื่องนี้ไปด้วยกันครับ