ครม. ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน เร่งมาตรการฟื้นเศรษฐกิจรับเฟส 3-4

ครม. ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน เร่งมาตรการฟื้นเศรษฐกิจรับเฟส 3-4

ครม. มีมติขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง 30 มิ.ย. นายกฯ สั่งเตรียมมาตรการฟื้นฟู เศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวรับคลายล็อกเฟส 3-4 ขณะที่โฆษก ศบค.แจงปมต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็นต้องรวบอำนาจ

เหตุ พ.ร.บ.โรคติดต่อเกิดปัญหากรณีทำงานระหว่างกระทรวง สมาคมโรงแรมประเมินโรงแรมเริ่มเปิดบริการเดือน มิ.ย.นี้

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พ.ค.ว่า ครม.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. - 30 มิ.ย. เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ 

โดยในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการบังคับใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังมีความจำเป็นเนื่องจากจะช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการที่ดีให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อชะลอ ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีความเป็นเอกภาพ รวดเร็วมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างมาตรฐานกลางด้านสาธารณสุข และช่วยเยียวยาประชาชนได้อย่างครอบคลุมภาพรวมของประเทศอีกด้วย 

อีกทั้งไทยอยู่ในช่วงการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายสำหรับในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระดับสูง จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและในระยะเวลาที่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวก่อนการประชุม ครม.เน้นย้ำถึงการพิจารณาขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.ว่า เป็นไปตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพ รองรับการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 และ 4 หลังจากผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 แล้ว จะต้องส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการด้านการท่องเที่ยว เน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ส่วนการจัดการประชุมสัมมนานั้น ขอให้เตรียมมาตรการรองรับอย่างเข้มงวด เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง เน้นซื้อสินค้าภายในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงซื้อจากเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียนของชุมชนเพื่อสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง

ส่วนกรณีที่มีประชาชนบางกลุ่ม ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการต่ออายุประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองนั้น โฆษกรัฐบาล ระบุว่า นายกฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมครม.ว่า ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจนถึงการพิจารณาต่ออายุได้คำนึงเหตุผลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผลทางการเมือง

นายกฯย้ำว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงมีความจำเป็นในการบูรณาการร่วมกันให้มีเอกภาพ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ เราไม่สามารถใช้เพียงแค่ พ.ร.บ.โรคติดต่อเป็นเครื่องมือเดียวในการแก้ปัญหาได้ เรากำลังเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 โดยในวันที่ 27 พ.ค. สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) จะประชุมในรายละเอียด เพื่อนำเข้าพิจารณาในศบค.ในวันที่ 29 พ.ค.ที่จะมีการผ่อนปรนในช่วงต้นเดือน มิ.ย. และหลังจากนั้นจะไปสู่ระยะที่ 4 ที่เป็นกิจกรรม กิจการที่มีความเสี่ยงสูง สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเป็นเหตุผลที่จำเป็นยังต้องคงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไว้ เป็นเครื่องมือกำกับดูแลสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

โฆษกศบค.แจงพ.ร.ก.ฉุกเฉินจำเป็น

เดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ชี้แจงถึงสาเหตุที่ยังไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อควบคุมโรคแทนว่า ขอตอบในนามโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีการทำงานข้ามกระทรวง ต้องมีมาตรการควบคุมด่านต่างๆ เฝ้าสนามบิน การประชุมสั่งการก็ไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ก็ไม่ดี ต่างจากตอนมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่นำเอากฎหมาย 40 ฉบับมารวมไว้ ทำให้เห็นการบูรณาการทำงาน โดยมีศูนย์ต่างๆ รับผิดชอบงานแต่ละด้าน

ยกตัวอย่าง เรื่องปัญหาหน้ากากอนามัย ที่ตอนแรกบอกว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้บริหารจัดการ แต่พอไปดูรายละเอียดเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่สามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ พอเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้บริหารจัดการได้ เหตุที่เราต้องรวบอำนาจ เพื่อต้องการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อควบคุมโรคให้ได้ ความสำเร็จในการควบคุมโรคส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารจัดกฎหมายตรงนี้

ในส่วนของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยกฎหมายตัวเดียว วิธีการจัดการควบคุมต้องจัดการให้ได้อย่างดี ต้องมีการรวบอำนาจ ตนต้องพูดอย่างนี้เพื่อให้สามารถคุมโรคได้โดยกลไกภาครัฐ จากเดิมต่างคนต่างทำ ดังนั้น ทุกวันนี้ทุกคนต้องมาทำตรงนี้ก่อน เพราะเป็นความสำคัญ เราอยู่ในช่วงนี้ ไม่ได้ต้องให้ใครได้เครดิต หรือความชอบธรรมอย่างเดียว เรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้มข้น เอกชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนร่วมมือ ประเทศไทยจะได้ไปต่อ เราถึงจะชนะการสู้โควิด-19

นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่าแนวโน้มของการมีผู้ป่วยตัวเลขหลักเดียวติดต่อกันมานาน แสดงถึงความสำเร็จของประเทศไทยในรอบแรกแรก แต่ยังไม่สามารถยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ เพราะยังอยู่ระหว่างผ่อนคลายระยะต่างๆ ซึ่งจากการเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ เมื่อจบรอบแรก หากไม่มีการควบคุมดูแลก็นำไปสู่การระบาดรอบ 2 ได้

ฉะนั้น ถ้าประเทศไทย ประชาชนไม่นำองค์ความรู้จากประเทศอื่นๆ เมื่อจบรอบแรกก็จะเผชิญกับการเกิดโรครอบที่ 2 ได้เช่นเดียวกัน สิ่งที่ต้องควบคุมให้ได้ คือ ความไม่ประมาท อย่างไรก็ตาม สธ.ได้วิเคราะห์หากเกิดโรครอบที่ 2 โดยจะมีวิเคราะห์จำนวนผู้ป่วย และการดูแลของสาธารณสุขที่สามารถควบคุมโรค และดูแลพี่น้องประชาชนได้ และกรณีใดที่เอาไม่อยู่ ฉะนั้น สธ.มีการวิเคราะห์สถานการณ์ฉากทัศน์ที่1-3 อยากให้อยู่ประมาณไหนที่ดูแลประชาชนได้

สทท.จี้รัฐหนุนเงินทุนคลายล็อก

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ภาครัฐต้องมีส่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการเตรียมความพร้อมของธุรกิจอย่างรอบด้าน เพื่อรองรับการคลายล็อกระยะที่ 3 หรือ 4 โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องในการกลับมาเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งล้วนต้องใช้เงินทุนทั้งสิ้น มองว่าในช่วงเริ่มแรกของการคลายล็อกอนุญาตให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการขับรถเที่ยวไปยังจุดหมายระยะใกล้ และไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น หัวหิน ระยอง และจันทบุรี

คาดโรงแรมบางส่วนเริ่มเปิดมิ.ย.

นายสรรเพชร ศุภบวรเสถียร ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลเตรียมคลายล็อกระยะที่ 3 และอาจหนุนให้มีการท่องเที่ยวในประเทศ มองว่าภาพรวมโรงแรมในเมืองพัทยาจะเริ่มกลับมาให้บริการเป็นบางส่วนได้ในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมขนาดเล็ก เพื่อรองรับกระแสการท่องเที่ยวของคนไทยที่น่าจะพอมีบ้างในช่วงสุดสัปดาห์ แต่ปริมาณการเดินทางและเข้าพักอาจจะยังไม่มากพอในการจูงใจทุกโรงแรมกลับมาเปิดให้บริการในทันที

“จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น โรงแรมในพัทยาส่วนใหญ่กว่าจะกลับมาเปิดให้บริการจริงๆ ก็ในช่วงปลายปีนี้ซึ่งตรงกับฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นเลย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาดหลัก เช่น รัสเซีย และอินเดีย มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระดับที่ยังน่าเป็นห่วงและต้องจับตาต่อเนื่อง ส่วนตลาดจีน แม้สถานการณ์จะคลี่คลายดีขึ้นแล้ว แต่คาดว่าน่าจะกลับมาเที่ยวไทยได้ราวเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ช่วงแรกๆ น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) และกลุ่มครอบครัว”.