ส่องโอกาสประเทศไทย ในความหวัง 'วัคซีนโควิด-19'

ส่องโอกาสประเทศไทย ในความหวัง 'วัคซีนโควิด-19'

ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดทั่วโลก สร้างผลกระทบไม่เฉพาะแต่ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่งความหวังหนึ่งของนานาประเทศที่จะหยุดยั้งและลดผลกระทบ จึงอยู่ที่การเร่งศึกษาวิจัย พัฒนาวัคซีน

ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดทั่วโลก สร้างผลกระทบไม่เฉพาะแต่ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมมิติด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ซึ่งความหวังหนึ่งของนานาประเทศที่จะหยุดยั้งและลดผลกระทบ จึงอยู่ที่การเร่งศึกษาวิจัย พัฒนาวัคซีน เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งกำหนดแนวทางสร้างการเข้าถึงวัคซีนให้เร็วที่สุดทั้ง“แผนจัดหา”และ “แผนวิจัยวัคซีนโควิด-19”ใน 6 เทคโนโลยี

กลยุทธ์เพื่อสร้างการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19ให้กับประเทศไทยนั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.นำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดสอบในประเทศไทย รวมถึง แผนรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต และข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประเทศไทย และ2.พัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำให้มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญและมีโรงงานผลิตวัคซีนที่พร้อมดำเนินการ

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกว่า ในส่วนของกลยุทธ์แรก ขณะนี้ไทยได้เจรจาทำความร่วมมือกับจีน โดยได้หารือเบื้องต้นกับทางสถานทูตจีนติดตามความก้าวหน้าในความร่วมมือการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ก็จะทำให้ไทยสามารถร่วมในขั้นตอนทดสอบวัคซีนของหน่วยงานจีน และหากประสบความสำเร็จ ประเทศไทยก็จะมีส่วนได้รับวัคซีนนั้นนำมาใช้ในประเทศด้วย นอกจากนี้ มีการประสานพันธมิตรในประเทศอื่นที่มีความก้าวหน้าในการวิจัยด้วย

สำหรับการวิจัยวัคซีนในประเทศไทย มีการวางแผนการวิจัยใช้ 6 เทคโนโลยี โดยมีการกระจายแผนการวิจัยไปยังหน่วยงานต่างๆ คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ไบโอเนท เอเชีย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งการวิจัยของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19ทั่วโลก


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายเกี่ยวกับความแตกต่างของ 6 เทคโนโลยีที่วิจัยวัคซีนครั้งนี้ว่า

1.วัคซีนชนิดดีเอ็นเอ(DNA) เป็นการเอารหัสพันธุกรรมบางตัวของเชื้อนี้คือดีเอ็นเอมาทำเป็นวัคซีน

2.วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ(mRNA) ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 เช่นกัน ในส่วนที่เรียกว่า เมสเซนเจอร์อาร์เอ็นเอ(mRNA)ที่เป็นตัวย่อย โดยจะไม่ก่อให้เกิดโรค เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีใช้ต่อสู้กับไวรัส

3. วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต(Protein Subunit) เป็นการนำบางส่วนของเชื้อไวรัสที่เป็นโปรตีนมาผลิตเป็นวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะต้องทำการวิจัย เพราะยังไม่ทราบว่าโปรตีนตัวไหนของไวรัสที่จะกระตุ้นได้

4.วัคซีนชนิดคล้ายอนุภาคไวรัส (Viral Like Particle:VLP) เป็นการนำตัวที่คล้ายกับไวรัสตัวนี้มาเป็นตัวต้นแบบและอาจจะฉีดบางอันเข้าไป


5.วัคซีนเชื้อตาย(Inactivated) เป็นการนำเชื้อไวรัสทั้งตัวแล้วทำให้อ่อนฤทธิ์ลงหรือทำให้ตายแล้วฉีดเข้าร่างกายคน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ แต่เนื่องจากเชื้อรุนแรงจึงต้องทำให้เชื้ออ่อนลงก่อน และ

6.วัคซีนใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) เป็นการเอาไวรัสอื่นที่ไม่อันตราย แล้วนำบางส่วนของไวรัสโคโรนานี้ใส่เข้าไป ซึ่งต้องทำการทดลองว่าจะนำส่วนไหนของไวรัสที่ต้องการทำวัคซีนเข้ามาใส่

“หลักการวิจัยวัคซีนทั้งหมดจะคล้ายกัน คือเป็นการนำสารของเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกายคน เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา แต่จะต่างกันตรงที่จะเลือกส่วนไหนของไวรัสมาทำวิจัยวัคซีน อาจจะเป็นส่วนที่เป็นโปรตีนผิวๆ ดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอก็ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าแบบไหนจะได้ผลสำเร็จ” นพ.โอภาสกล่าว

ทั้งนี้ การวิจัยพัฒนาวัคซีนมีขั้นตอนสำคัญ ประกอบด้วย การวิจัยในหลอดทดลอง การทดลองในสัตว์เล็ก การทดลองในสัตว์ใหญ่ เพื่อดูเกี่ยวกับความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สัตว์ทดลอง การทดลองในคนซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ทดสอบความปลอดภัยในคน 30-50 คน เพื่อดูวัคซีนขนาดต่ำสุด ขนาดกลาง ขนาดสูง เทียบกับกลุ่มเปรียบเทียบ ว่าปลอดภัยหรือไม่ เช่น มีไข้ บวม ผื่น หรือไม่

ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน กลุ่มเล็ก 250– 500 คน และ                                                                                                                                                                                                                                       

ระยะที่ 3 ผลในการป้องกันโรคในกลุ่มใหญ่มากกว่า 1,000 คนขึ้นไป และการขึ้นทะเบียนวัคซีน

งานวิจัยวัคซีนโควิด-19ในนประเทศไทยที่มีความคืบหน้าที่สุด เป็นชนิดดีเอ็นเอ โดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย ที่มีการทดลองในหนู และชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผ่านการทดลองในหนูแล้ว อยู่ระหว่างการทดลองในลิง

คาดว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมจะสามารถตรวจเลือดลิงเพื่อดูผลการทดลอง หากผลการทดลองในลิงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คาดช่วงปลายปี 2563 จะเริ่มทดลองในคน ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผน ปลายปี 2564 น่าจะผลิตวัคซีนโควิด-19เพื่อคนไทยหลายล้านคนได้

สิ่งที่เป็นคำถามสำคัญ คือ “เมื่อต่างประเทศมีการวิจัยที่ก้าวหน้ากว่าของประเทศไทย โดยมีการศึกษาในคนแล้ว ทำไมประเทศไทยต้องวิจัยวัคซีนเอง ไม่รอซื้อจากต่างประเทศอย่างเดียว ?”

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองในการผลิตวัคซีนด้วย เนื่องจากประชากรโลกมีจำนวนมาก 7.7 พันล้านคน และต้องประชากรต้องได้วัคซีน 30-50% เฉพาะในประเทศจีน ประชากร 1,400 ล้านคน และสหรัฐอเมริกา 330 ล้านคน หากพัฒนาวัคซีนสำเร็จก็มีประชากรของตัวเองจำนวนมากที่ต้องได้รับวัคซีน จึงอาจจะเป็นเรื่องยากที่จะมีการส่งมอบวัคซีนให้ประเทศอื่นด้วย

ทว่า ประเด็นเรื่อง“โรงงานผลิตวัคซีน”เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยแม้ว่าจะสามารถวิจัยวัคซีนโควิด-19ได้สำเร็จ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองเพียง 2ชนิด อีกทั้ง วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอนั้น ถือเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ซึ่งทั่วโลกน่าจะมีโรงงานผลิตได้เพียง 7 แห่งเท่านั้น ขณะที่”โรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่” อ.ทับกวาง จ.สระบุรีขององค์การเภสัชกรรม(อภ.)ที่วางแผนจัดตั้งงบประมาณกว่า 1,500 บาทตั้งแต่ปี 2552 ช่วงที่โรคไข้หวัดใหญ่ 2009เริ่มระบาด ด้วยหวังจะเป็นโรงงานผลิตวัคซีนให้ประเทศไทยพึ่งตนเองได้นั้น จนถึงปัจจุบันผ่านไป 11 ปี ก็ยังไม่สามารถที่จะผลิตในระดับอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม วิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เชื่อมั่นว่า ประเทศมีความพร้อมในการจะสามารถผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศได้ ทั้งชนิดดีเอ็นเอวัคซีนและเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน รวมถึงการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตด้วย

ระหว่างที่รอวัคซีนจากภายนอกฉีดเข้าร่างกาย เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 คนไทยทุกคนสามารถใช้วัคซีนในกายที่ทุกคนทำได้ด้วยตัวเอง ด้วยการยึดแนวปฏิบัติป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด “ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล”