เงินฝากแบงก์โต‘8แสนล.’ ‘กรุงไทย-บัวหลวง’แชมป์

เงินฝากแบงก์โต‘8แสนล.’ ‘กรุงไทย-บัวหลวง’แชมป์

“ศูนย์วิจัยทีเอ็มบี” เผยเงินฝากแบงก์ทั้งระบบโตสูง ยอด 4 เดือนแรกปีนี้เงินไหลเข้ากว่า 8 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 7.7% จากปีก่อน “กรุงไทย-กรุงเทพ” โตมากสุด ผลจากนักลงทุนโยกเงินหนีกองทุนรวม ชี้ส่วนใหญ่เข้ามาพักในบัญชีออมทรัพย์ รอจังหวะกลับเข้ากองทุนรวม

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารสูงสุด ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวว่า  ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.)  เงินฝากเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้น 8 แสนล้านบาท หรือ 7.7%  เป็น 5.3 ล้านล้านบาท จากสิ้นก่อนอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท

การเพิ่มขึ้นของเงินฝาก ส่วนใหญ่มาจากการโยกเงินลงทุนจากกองทุนรวม 6 แสนล้านบาท โดย 4 แสนล้านบาทมาจากกองทุนตราสารหนี้ หลังตลาดผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนโยกเงินไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิตลาดกองทุนรวม หรือ AUM ติดลบ 11.4 %  เหลือ 4.7 ล้านล้านบาท จาก 5.3 ล้านล้านบาทในสิ้นปีก่อน

หากดูรายแบงก์พบว่า แบงก์ที่เงินฝากเติบโตมากที่สุด คือ ธนาคารกรุงไทย เงินฝากโตถึง 10.42%  รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ เติบโต 9.52% และกสิกรไทยเติบโต 8.84% โดยกว่า 80% เป็นการเข้ามาพักในบัญชีออมทรัพย์ ดังนั้นคาดว่าเงินส่วนนี้พร้อมจะไหลกลับสู่ตลาดกองทุนรวมได้

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การลงทุนในตลาดเงินขณะนี้ เหมือนเก้าอี้ดนตรี เงินวิ่งไปมาในเงินฝาก กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนตลาดเงิน เพราะตลาดเงินมีความผันผวนสูง ทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนมากขึ้น โดยโยกเงินมาเก็บไว้ในเงินฝาก และถอนเงินลงทุนในกองทุนเปิดที่มูลค่า NAV ขึ้นลงตามตลาด กองทุนลักษณะนี้มีความผันผวนสูง จึงเห็นเงินลงทุนย้ายไปสู่กองทุนระยะสั้น เช่นกองทุนปิด กองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาที่ได้ผลตอบแทนแน่นอนมากขึ้น เพื่อรองรับความผันผวนในอนาคต

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน กสิกรไทยยังแนะนำ ให้ถือเงินฝาก 30% และอีก 70% ลงทุนในกองทุน โดยการลงทุนในกองทุนราว 60% เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ 40% ลงทุนในกองทุนหุ้นทั่วโลก กองทุนผสม เป็นต้น