‘เมกาบางนา’ ปลุกขาช้อปคึกคัก ลุ้นปลดล็อก 100% เร่งเศรษฐกิจฟื้น

‘เมกาบางนา’ ปลุกขาช้อปคึกคัก  ลุ้นปลดล็อก 100% เร่งเศรษฐกิจฟื้น

ธุรกิจค้าปลีกในช่วงรอยต่อความปกติใหม่ (New Normal) เป็นจุดเปลี่ยนและความท้าทาย! ของผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคนิวนอร์มอล ที่ต้องยึดมาตรการสุขอนามัย สะอาด ปลอดภัย เป็นหลัก

ขณะที่การเร่งพลิกฟื้น รายได้-ยอดขาย  เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้าสร้างการเติบโตต่อไปได้! เป็นอีกโจทย์ใหญ่

ปพิตชญา สุวรรณดี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเมกาบางนา กล่าวว่า ช่วง 18 เดือนจากนี้ เป็นห้วงเวลาแห่งการ ประคอง-รักษา ธุรกิจ ซึ่ง  เมกาบางนา ประเมินวิกฤติโควิด-19  กรณีเลวร้ายที่สุด (worst case scenario) คาดว่า สถานการณ์จะยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี 2564  หรือจนกว่าจะมีวัคซีนควบคุมโรคได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าภาวะการณ์ต่างๆ จะดีขึ้นตามลำดับ!  

สำหรับการปิดบริการนานราว 2 เดือนที่ผ่านมาของเมกาบางนา พร้อมเยียวยาร้านค้า ซึ่งไม่มีการจัดเก็บค่าเช่าในช่วงปิดบริการ กระทบภาพรวมรายได้ปีนี้ 15-20% ขณะที่การกลับมาเปิดบริการยังคงมีมาตรการช่วยเหลือเป็นรายกรณีตามความเหมาะสม

ทำอย่างไรให้ธุรกิจทนต่อการช็อก! ทางเศรษฐกิจให้ได้นานที่สุด รวมทั้ง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงสู่ยุคนิวนอร์มอลอย่างรวดเร็วและหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น จะก้าวตามทันแค่ไหนเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก

ความร่วมมือของทุกฝ่ายในการประคองสถานการณ์โควิดไม่ได้เกิดการระบาดรอบใหม่ หรือรักษาระดับการติดเชื้อใหม่ให้อยู่ในอัตราต่ำ หรือ เป็นศูนย์ นำสู่การปลดล็อกระยะต่อ ไป กระทั่งปลดล็อก 100% ได้เร็วเท่าไรจะทำให้โอกาสในการฟื้นธุรกิจ เศรษฐกิจ เร็วยิ่งขึ้น และแน่นอนว่า ธุรกิจที่มีความพร้อมย่อมได้เปรียบ! อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น อยากให้รัฐพิจารณาการขยายเวลาเปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ถึง 22.00 น. เชื่อว่าจะทำให้การบริหารจัดการธุรกิจดีขึ้น

ผู้คนอัดอั้นจากสถานการณ์โควิด! สะท้อนจากการกลับมาเปิดบริการอีกครั้งของเมกาบางนาตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. พบว่า ธุรกิจค่อนข้างคึกคัก!  

เมกาบางนามีร้านค้าที่กลับมาเปิดแล้ว 97% จากร้านค้าที่รัฐอนุมัติให้เปิดได้ ยกเว้นเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ฟิตเนส ฯลฯ โดยมีลูกค้ามาใช้บริการมากกว่า 80% สูงกว่าคาดการณ์ไว้ในระดับต่ำสุดที่ 50% พร้อมยอดขายผู้เช่าหลักที่กลับมาเป็นปกติหรือมากกว่าเทียบก่อนปิดศูนย์การค้า หรือยอดใช้จ่ายราว 3,000 บาทต่อคนต่อครั้ง นับเป็นแนวโน้มที่ดี และสะท้อนความแข็งแรงในความเป็น Meeting Place ของผู้คนในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ภายใต้ความหลากหลายของร้านค้าและแพลตฟอร์มที่แตกต่างจากศูนย์การค้าอื่น ของเมกาบางนาที่มีทั้งอินดอร์-เอาท์ดอร์ พร้อมมาร์เก็ตติ้งฉบับนิวนอร์มอล ทำให้ทราฟฟิก 1.3-1.5 แสนคนต่อวันจากก่อนเกิดวิกฤติโควิด มีลูกค้าหายไปเพียง 20% เป็นปรากฏการณ์เหนือศูนย์การค้าอื่นๆ 

ทั้งนี้ เมกาบางนา และพันธมิตรร้านค้าผู้เช่า ได้วางแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจยุคนิวนอร์มอล โดย "ต่อยอด" ความร่วมมือกับฟู้ดออนไลน์ดีลิเวอรีแพลตฟอร์มต่างๆ ย้ำจุดขาย “ฟู้ด เดสทิเนชั่น” ซึ่งมีร้านอาหาร 165 ร้านให้บริการ ซึ่งในช่วงที่ศูนย์ปิดชั่วคราว เมกาบางนา ได้เปิด จุดสั่งอาหารกลับบ้าน เพื่ออำนวยสะดวกให้ลูกค้า และพนักงานดีลิเวอรีทุกแพลตฟอร์ม พร้อมทำแคมเปญร่วมกับแกร็บฟู้ด ใช้คะแนนเมกา สไมล์ รีวอร์ดส แลกรับส่วนลด และร่วมกับไลน์แมนทำโปรเจก “เมกา อีท แอท โฮม” ให้ลูกค้าเลือกสั่งเมนูจากร้านต่างๆ ต่อการสั่งซื้อ 1 ครั้ง นอกจากนี้ อยู่ระหว่างเจรจากับฟู้ดออนไลน์ดีลิเวอรีต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางขายและเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น 

ในภาพรวมธุรกิจอาหารแม้ช่องทางออนไลน์จะเติบโตได้ดี แต่ “ร้านสาขา” ยังมีข้อจำกัดจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ลูกค้าเข้าร้านได้น้อยลงกว่าเดิม 50% จำเป็นต้องปรับตัวและเสริมรายได้จากช่องทางอื่นๆ  

เมกาบางนา ยังเดินหน้ากลยุทธ์ออมนิแชนแนล เชื่อมช่องทางออนไลน์และหน้าร้านแบบไร้รอยต่อสำหรับร้านค้าทุกประเภท! ผ่านบริการ Click &Collect เป็นการต่อยอดรวมรีเทลและโลจิสติกส์เข้าด้วยกัน ลูกค้าเลือกดูและสั่งสินค้าทางออนไลน์ และมารับสินค้าได้ที่จุดไดรฟ์ ทรู  เพื่อลดความแออัดภายในร้านค้า

ปพิตชญา กล่าวต่อว่า วิกฤติโควิดไม่กระทบต่อแผนการลงทุนระยะยาวของเมกาบางนาในการทรานส์ฟอร์มสู่ เมกาซิตี้ มิกซ์ยูส หรือเมืองสมบูรณ์แบบสำหรับการใช้ชีวิตครบวงจร ทั้งพื้นที่อยู่อาศัย สำนักงาน โรงเรียน โรงแรม สวนสาธารณะ โดยมี เมกาบางนา เป็นศูนย์กลางของทุกไลฟ์สไตล์ รวมพื้นที่กว่า 400 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด

ช่วงปิดบริการเมกาบางนา 2 เดือนกว่า เป็นจังหวะดีในการเร่งปรับปรุงสถาปัตยกรรมภายในอาคารศูนย์การค้าแล้วเสร็จเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โซนเมกา ฟู้ดวอล์ค คอนเซป Scandinavian Playground นำเสนอสนามเด็กเล่นธรรมชาติขนาดใหญ่ ทั้ง 2 โครงการใช้เงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาท ทั้งเร่งก่อสร้างอาคารจอดรถ 8 ชั้น เพิ่มที่จอดรถมากกว่า 2,000 คัน ภายใต้งบกว่า 1,000 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จต้นปี 2564  จะทำให้ เมกาบางนามีที่จอดรถรองรับกว่า 12,000 คัน

การเดินหน้าแผน เมกาซิตี้” ภายในองค์ประกอบต่างๆ จะต้องนำแนวทางการใช้ชีวิตตาม นิว นอร์มอล มาประยุกต์ใหม่ เช่น การพัฒนาโรงแรมต้องปรับแบบรองรับการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ต้องพิจารณาการใช้พื้นที่ต่างๆ มากขึ้น