หุ้นอสังหาฯ ซิ่งยกกลุ่ม เก็งมาตรการรอบใหม่

หุ้นอสังหาฯ ซิ่งยกกลุ่ม  เก็งมาตรการรอบใหม่

การคลายความเข้มงวดในการจำกัดให้บริการตามธุรกิจต่างๆเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ   พร้อมๆ กับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ของไทยที่ยังคงระดับตัวเลขหลักเดียว จึงทำให้ประชาชนเริ่มที่จะออกมาใช้ชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่มากขึ้น

    

            ด้านภาครัฐซึ่งเป็นแกนหลักสำคัญที่จะฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่หยุดชะงักจนกลายเป็นภาวะตกต่ำให้ฟื้นขึ้นเร็วที่สุด ผ่านการอักฉีดมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจ หลังจากก่อนหน้านี้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาค่าใช้จ่ายให้กับภาคประชาชนไปแล้ว  เริ่มออกมาตรการเพิ่มเติมมากระตุ้นภาคธุรกิจให้เห็นกันบ้างแล้ว

            ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการกระตุ้นไม่น้อย  จากในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดวงเงินปล่อยสินเชื่อต่อสินทรัพย์ (LTV) ของแบงก์ชาติทำให้ยอดขายปรับตัวลดลง  ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีเสียงเรียกร้องต้องการให้ผ่อนคลายมาตรการลงอีกหรือกระตุ้นด้านอื่นเพิ่มเติม

จากเดิมก่อนหน้านี้ทั้งภาครัฐและแบงก์ชาติได้ลดความเข้มงวด LTV และกระตุ้นยอดซื้ออสังหาฯ ลงมาบ้างแล้ว  ด้วยการให้เฉพาะผู้กู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่นับเป็นผู้กู้  การให้อัตราสินเชื่อ 10 % ให้กับสัญญาแรก ที่ราคาบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อใช้ในการตกแต่งซ่อมแซมบ้าน  ส่วนใครอยากมีบ้านหลังที่สองต้องมีประวัติกู้บ้านหลักแรกอย่างน้อย 2 ปี  และคงเงินดาวน์ที่ 10 %

ส่วนภาครัฐจัดมาตรการ ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน เหลือ 0.01 %  กรลดค่าจดทะเบียนการจำนองเหลือ 0.01 % (ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท) สิ้นปี 2562    การลดหย่อนภาษีไม่เกิน 2 แสนบาท สำหรับผู้ซื้อบ้านหลักแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท สิ้นปี 2562  และโครงการ‘บ้านดีมีดาวน์รัฐคืนเงิน 5หมื่นบาทผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อเดือน

            อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเข้มงวดมากขึ้นไปอีก สะท้อนจากอัตราการปฎิเสธสินเชื่อที่เข้มงวดจาก เฉลี่ย 15 % เป็น 20 %   เพราะตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวมาอยู่ที่ 3.05 %   ในไตรมาส 1ปี 2563 จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2.98 %

            จากภาพรวมสินเชื่อทุกประเภทไตรมาสดังกล่าวจากเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.1 %จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการพิ่มขึ้นของสินเชื่อคอร์ปอเรท แต่สินเชื่อสินเชื่ออุปโภคบริโภค คิดเป็น 35.2 %  ของสินเชื่อรวม   ขยายตัว 5.6  % ชะลอลงจากไตรมาสก่อนในทุกประเภทสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ สอดคล้องกับการลดลงของยอดซื้อที่อยู่อาศัยและรถยนต์

            ทางแบงก์ชาติ ได้มีการสำรวจฝั่งความต้องการสินเชื่อทั้งระบบในไตรมาส 2 ปี 2563 เมื่อดูในส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ผ่านสถาบันการเงินต่างพบว่าตัวลงลงมาติดลบเพิ่มขึ้นอยู่ที่  50  จากเดิม ติดลบ 30    ซึ่งสะท้อนความหมายว่าความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง  รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อด้วยเช่นกัน

            ตามตัวเลขยอดขายที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ผ่านมาในกลุ่มผู้ประกอบการบริษัทจดทะเบียน 12 บริษัท   ลดลงอย่างหนักมาอยู่ที่  35,919 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 52,585 ล้านบาท   หรือลดลงถึง 31.69

            ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มผู้ประกอบการออกเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนและเพิ่มมาตราการกระตุ้นความต้องการที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ไป จนส่งผลทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มพร้อมใจปรับตัวขึ้นมา

            บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส   ระบุแม้คาดหวังภาพรวมครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับซีซั่นที่สร้างยอดขายได้ดี แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ยังอ่อนตัว และปัญหาเรื่องคุณภาพของ โครงการรับรู้รายได้ (Backlog) ว่าการโอน ของลูกค้ามีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งย่อมมีผลต่อการรับรู้รายได้และกระแสเงินสดของผู้ประกอบการตามมา

ปัญหาสำคัญเกิดจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในกลุ่มระดับกลาง-ล่าง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด ประกอบกับการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของแบงค์ ยิ่งทำให้การเข้าถึงที่อยู่อาศัยมีความยากขึ้น สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาส 1ปี 2563 ใน 12 รายใหญ่ มีกำไรปกติ 5.35 พันล้านบาท ลดลง 43%  จากช่วงเดียวกันปีและแนวโน้มไตรมาส 2 ปี 2563 คาดยังไม่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการเน้นใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อระบายสต๊อกย่อมกดดันต่อมาร์จิ้น