'คุรุจิต' เล็งชงผลศึกษาตั้งปิโตรเคมี ระยะ 4 สิ้นปี 63

'คุรุจิต' เล็งชงผลศึกษาตั้งปิโตรเคมี ระยะ 4 สิ้นปี 63

สถาบันปิโตรเลียมฯ เดินหน้าศึกษาจัดตั้งโครงการพัฒนาอุตฯปิโตรเคมี ระยะที่ 4 คาดเสร็จสมบูรณ์สิ้นปีนี้ หวังต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม เล็งเปิดตลาดส่งออกฝั่งอันดามัน เชื่อ โควิด-19 ฉุดการใช้พลังงานระยะสั้น

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถาบันปิโตรเลียมฯ อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 4 หลังได้รับว่าจ้างจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน คาดว่า จะศึกษาเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2563 ตามระยะเวลาว่าจ้าง 14 เดือน

  159048827455

โดยการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯนั้น จะต้องตอบโจทย์สำคัญ เช่น 1. เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่วัตถุดิบตั้งต้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเริ่มน้อยลง ตามกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะลดลง และการแข่งขันของต่างประเทศ ประกอบกับเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำมากขึ้น

ดังนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีประเภทไหน จะเหมาะสมกับการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และกลายเป็นอุตสาหกรรมหลัก ที่สร้างประโยชน์ รายได้ และการจ้างงานให้กับประเทศชาติ ซึ่งประเด็นนี้จะต้องดูถึงเทคโนโลยีปิโตรเคมีปัจจุบัน ที่ดำเนินการมาถึงโครงการปิโตรเคมี ระยะที่ 3 แล้ว การจะไปต่อระยะที่ 4 ก็ต้องพิจารณาดูว่าจะมีผลิตภัณฑ์อะไร ที่สามารถผลิตสินค้าออกมาทันต่อความต้องการของตลาดและสอดรับต่อทิศทางของโลกได้

 

  1. ในแง่ของการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานของไทย และนโยบายส่งเสริมการลงทุน มีพร้อมหรือไม่ 3.กฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพื้นที่ ด้านโลจีสติกส์ ศุลกากรต่างๆ จะเอื้อต่อการพัฒนาโครงการฯโดยที่ไม่มีอุปสรรคหรือไม่

 

และ 4.พื้นที่มีความอิ่มตัวหรือไม่ ยังมีพื้นที่อื่นหรือไม่ ที่จะรองรับการผลิตให้ตอบโจทย์เป้าหมายใหม่ที่ไม่ได้มองแค่การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า แต่ยังมองไปถึงการทำตลาดใหม่ในอนาคตด้วย เป็นต้น

 

ส่วนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการใช้พลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯชะลอตัวนั้น เชื่อว่า จะเป็นสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น โดยหลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง ก็จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มกลับมาฟื้นตัว ภาคธุรกิจเริ่มลงทุน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งเกี่ยวโยงกับสินค้าจำเป็นที่มนุษย์ต้องใช้ก็ต้องกลับมา แต่ก็ต้องดูว่าผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่จะสนองต่อความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคในขณะนั้น ส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดไหนที่เข้าสู่ภาวะอิ่มตัวนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอยู่ในช่วงของการจัดทำข้อมูลต่างๆ

 

ทั้งนี้ สถาบันปิโตรเลียมฯ ได้ส่งรายงานผลการศึกษาโครงการฯ เบื้องต้นให้กับ สนพ.ไปแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากติดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น จะชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมประเภทใด เป็นอุตสาหกรรมดีเด่น เช่น อาหาร ท่องเที่ยว รถยนต์ แล้วอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถเข้าไปช่วยส่งเสริมหรือต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้

 

รวมถึง ต้องพิจารณาดูว่าหากไม่ได้ผลิตเพื่อทดแทนนำเข้าอีกต่อไป ก็ต้องหาตลาดเพิ่มเติมจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยไปดูตลาดของโลกอินเดีย แอฟริกา ที่มีช่องทางออกทะเลฝั่งอันดามัน

 

อีกทั้ง ต้องมองเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ออกแบบผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ที่มองเรื่องของความยั่งยืน ใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ต้องดูว่าจะต่อยอดเทคโนโลยีได้อย่างไร

 

นายคุรุจิต กล่าวว่า สำหรับพื้นที่จัดตั้งจะอยู่ทางภาคใต้หรือไม่นั้น ยังต้องขอระยะเวลาในการลงไปศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ก่อน แต่โดยหลักการแล้วควรจะเป็นพื้นที่ที่มีทางออก ขนส่งสินค้าออกสู่ทะเลทางทิศตะวันตกได้ เช่น ฝั่งอันดามัน เป็นต้น ซึ่งโครงการปิโตรเคมี ระยะที่ 4 จะไม่ใช่พื้นที่รองรับรองการจัดตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น แต่จะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมศักยภาพการขนส่งสินค้ากระจายไปสู่ประเทศเป้าหมายมากขึ้น