ผุดแอพ 'ผู้พิทักษ์ไทยชนะ' สั่งจว.ติดตามผ่อนปรนเฟส 3

 ผุดแอพ 'ผู้พิทักษ์ไทยชนะ' สั่งจว.ติดตามผ่อนปรนเฟส 3

ศบค.มหาดไทยผุด แอพฯผู้พิทักษ์ไทยชนะ สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ - กทม.คัดบุคคลทำหน้าที่ควบคุมช่วงผ่อนปรนเฟส 3 ย้ำยังเข้ม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-แผนจังหวัด ขณะที่นายกฯ กำชับ ศบค.กลาโหม เข้มกลุ่มกลับเข้าไทย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ส่งหนังสือหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และปลัด กทม. ลงวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ดำเนินการตามคำสั่ง ศบค.ที่ 3/2563 โดยเนื้อหาสรุปว่า

ในการประชุม ศบค.ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ" มาใช้ให้ครอบคลุมทุกกิจการ กิจกรรม ที่ได้รับการผ่อนคลาย เพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 2 ประกอบกับคำสั่ง ศบค.ฉบับที่ 3/2563 ลงวันที่ 16 พ.ค.63 กำหนดมาตรการป้องกันโรคฯ โดยกำหนดแนวทางการนำแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” มาใช้งาน 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 สำหรับกิจการ/กิจกรรม ให้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ www.ไทยชนะ.com ส่วนที่ 2 สำหรับประชาชน ให้ใช้งานผ่าน QRCode ส่วนที่ 3 สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแลตรวจให้ใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” ได้มอบหมายศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด อำเภอ ตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเมืองพัทยา ทำหน้าที่กำกับดูแล

โดยมีแนวทางให้จังหวัดปฏิบัติ ดังนี้ 1. ให้จังหวัดแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่งรายชื่อผู้ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเมืองพัทยาตามจำนวนที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยส่งให้ศบค.มท. ภายในวันที่ 26 พ.ค.นี้ เพื่อรวบรวมส่งหน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนาแอพพลิเคชั่น “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ”

2. เมื่อศบค.มท.ได้รับแจ้งยืนยันรายชื่อตามข้อ 1. จากหน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนาแอพพลิเคชั่น “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” แล้ว จะแจ้งให้ผู้ที่มีรายชื่อดังกล่าว เข้าใช้งานเพื่อนำแอพพลิเคชั่นดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลต่อไป ซึ่งในระหว่างรอขั้นตอนข้างต้น ให้ทุกส่วนยังคงถือปฏิบัติตามคำสั่งศบค.ตาม พ.รก.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 2 และแผนปฏิบัติการที่จังหวัดกำหนดอย่างต่อเนื่อง

3. ศบค.มท. ได้มอบหมายศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย รวบรวมรายชื่อตามข้อ 1. และเป็นผู้ประสานงานในการใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ”เมื่อแอพพลิเคชั่น “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” มีความพร้อมใช้งานจะกำหนดให้มีการซักซ้อมการปฏิบัติให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ

ลงทะเบียนกว่า 1 แสนร้าน

ในการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่ทำเนียบ วานนี้(25พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยถึงจำนวนคนใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะ ในรอบ 7 วัน ว่ามีจำนวนกิจการ/กิจกรรมลงทะเบียน 106,235 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 11,757,624 คน จำนวนการใช้งาน เช็คอิน 27,114,565 ครั้ง และเช็คเอาท์ 19,204,736 ครั้ง

พร้อมกันนี้ ยังได้เตือนประชาชนให้ระวังมิจฉาชีพ เนื่องจากการพบว่า มีการทำแอพพลิเคชั่นไทยชนะของปลอมขึ้น โดยของจริงจะเป็นแพลตฟอร์มไทยชนะ ที่เป็นเว็บไซต์ เพื่อใช้ในการควบคุมและป้องกันโรค ชื่อเว็บ www.ไทยชนะ.com และ www.thaichana.com ไม่ต้องโหลดแอพใดๆ และมีแถบหน้าจอ 3 แถบ เหลือง ส้ม ฟ้า

ข้อสังเกตเว็บปลอม ใช้ชื่อเว็บ thaichana.pro thai-chana.asia thaichana.asia เป็นต้น ซึ่งให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดก่อนใช้งาน และมีแถบหน้าจอเพียงแถบเดียวคือสีเหลือง และก่อนเข้าระบบผู้ใช้ต้องตอบคำถามมากมาย หลอกล่อให้คนโหลดเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล

แนะใช้ “บับเบิ้ลโมเดล”ดูแลเด็ก

วันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงมาตรการสำหรับการเปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ หลักการสำคัญคือการจัดให้เด็กเรียนเป็นกลุ่มย่อยไม่เกิน 5-6 คนต่อกลุ่ม เหมือนฟองอากาศ เรียกว่า บับเบิ้ล โมเดล (Bubble Model) โดยให้เด็กที่อยู่คนละกลุ่มย่อย มีการใกล้ชิดกันให้น้อยที่สุด หรือไม่ให้ใกล้ชิดกันเลย ซึ่งครูยืนยันว่า ปกติในการดูแลเด็กปฐมวัยก็จะทำเป็นหน่วยย่อยๆ อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ต้องเน้นเรื่องความสะอาดด้วย โดยให้เด็กแต่ละกลุ่มย่อยล้างมือทุกครั้งหลังใช้พื้นที่เรียนรู้ และทำความสะอาดสถานที่นั้นก่อนที่จะให้กลุ่มย่อยอื่นเข้าใช้งานต่อไป

ขณะที่จุดเน้นหนัก ที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องถือปฏิบัติในสถานการณ์โควิด 19 ประกอบด้วย การทำความสะอาดพื้นที่ร่วม การเข้าแถวเว้นระยะห่าง การใช้ของส่วนตัวแม้กระทั่งของเล่นจะต้องจัดเป็นเซต ยกเว้นบางอย่างที่ต้องใช้ร่วมกัน การจัดห้องแยกเตรียมไว้ กรณีเด็กไม่สบาย แต่หากเป็นไปได้กรณีที่ลูกไม่สบายอาจจะต้องให้หยุดอยู่ที่บ้าน ฯลฯ
เช่นเดียวกับ ผู้บริหารเจ้าของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และครูและผู้ดูแลเด็ก ต้องเข้มงวดมาตรการ สธ.

สั่งเหล่าทัพเข้มคัดกรองเข้าปท.

ขณะที่พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังประชุมสภากลาโหม
วานนี้(25พ.ค.)ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ย้ำถึงการสนับสนุนรัฐบาลแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 โดย ให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพ ยังคงความต่อเนื่องสนับสนุนการดำเนินการของ ศบค. และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) รวมทั้งสนับสนุนการอำนวยการจัดการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) และพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine)

ตลอดจนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการมาตรการคัดกรอง และสถานที่กักตัวควบคุมโรคดังกล่าว ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ให้เพียงพอสำหรับรองรับคนไทยในต่างประเทศจำนวนมากที่ลงทะเบียนกับกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งชาวต่างประเทศที่มีใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย ซึ่งประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามเข้าใจความรู้สึกและดูแลทุกคนตลอดเวลาเข้าพักกักตัวควบคุมโรค ให้เสมือนคนในครอบครัว

“ขอให้เพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้นกับกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนเหยื่อของเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ที่เดินทางเข้าประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำ” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว