“กลุ่มสิ่งทอ”เล็งเบนเข็มธุรกิจ “ดับเบิลยูทีโอ”ชี้อุตฯการแพทย์บูม

“กลุ่มสิ่งทอ”เล็งเบนเข็มธุรกิจ  “ดับเบิลยูทีโอ”ชี้อุตฯการแพทย์บูม

สถานการณ์โควิด-19 กำลังคลี่คลายลงในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย แต่สิ่งที่โควิดทิ้งไว้ให้โลกใบนี้ คือ “นิว นอร์มอล” ที่มีเรื่องของการดูแลระมัดระวังสุขภาพและอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ

สถานการณ์โควิด-19 กำลังคลี่คลายลงในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย แต่สิ่งที่โควิดทิ้งไว้ให้โลกใบนี้ คือ “นิว นอร์มอล” ที่มีเรื่องของการดูแลระมัดระวังสุขภาพและอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด และยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อไปสอดคล้องกับแผนส่งเสริมการลงทุนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ที่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาด้วย

ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย(TGMA) และประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังการหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเมื่อเร็วๆนี้ ได้นำเสนอประเด็นสำคัญ ได้แก่ การตั้งห้องทดสอบ(แล๊บ)อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ชุดPPE และสินค้าอื่นๆ ที่ผลิตจากสิ่งทอที่นำไปใช้ทางการแพทย์ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 100 ล้านบาท เพื่อให้สินค้าไทยสามารถผลิตและตรวจสอบมาตรฐานได้ตั้งแต่ในประเทศ เพื่อการผลิตใช้ภายในและการส่งออก

ปัจจุบันสินค้าทางการแพทย์ต้องผ่านมาตรฐาน จากยุโรป และสหรัฐ จึงต้องส่งตัวอย่างไปตรวจสอบที่นั่นใช้เวลาประมาณ 3 เดือนและมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนบาทต่อสินค้าแต่ละชนิดแต่ละล๊อต นับเป็นต้นทุนทั้งที่มองเห็นคือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและต้นทุนที่มองไม่เห็นคือการเสียเวลาการทำธุรกิจ 

“เราสามารถซื้อเครื่องตรวจคุณภาพสินค้าที่จะนำไปใช้ทางการแพทย์มาตั้งห้องตรวจสอบเองได้ เพราะขึ้นชื่อว่าอุปกรณ์การแพทย์ความปลอดภัยตามมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ต้องมั่นใจว่าชุดPPE หรือหน้ากาก สามารถกันเชื้อโรค,กันเลือดซืมผ่านได้ ซึ่งเราทำได้แล้วแต่ก็ต้องพิสูจน์ว่าได้มาตรฐาน” 

ยุทธนา กล่าวอีกว่า หลังอุตสาหกรรมสิ่งทอฯเผชิญผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ตลาดหยุดชะงัก จากเศรษฐกิจชะลอตัว การล็อกดาวน์ในหลายประเทศ พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีคำสั่งซื้อสินค้าจนต้องหยุดการผลิต แต่เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินต่อไปได้จึงมีแผนว่าต้องปรับทิศทางอุตสาหกรรมไปผลิตสินค้ากลุ่มการแพทย์ หรือแม้แต่สินค้าสำหรับประชาชนทั่วไปก็ต้องมีคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรค หรือมีปัจจัยความสะอาดดีต่อสุขภาพมาเป็นเงื่อนไขการผลิตมากขึ้น

ในโอกาสเดียวกันนี้ได้เสนอนายกรัฐมนตรีสนับสนุนกองทุนฟื้นฟู ในรูปแบบซอฟโลน วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาทสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอฯอย่างเดียว แต่หากจะครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมที่มีอยู่ทั้งหมด อาจต้องใช้เงินประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักๆเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถปรับตัวรับกับเงื่อนไขวิถีชีวิตใหม่ หรือ นิวนอร์มอล  เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การวิจัยและพัฒนาเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ต่อไป 

แผนการปรับตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มฯสอดคล้องกับรายงานขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)เรื่อง“THE TREATMENT OF MEDICAL PRODUCTS IN REGIONAL TRADE AGREEMENTS ” สาระสำคัญส่วนหนึ่งสรุปได้ว่า  สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง รวมถึงเจลล้างมือและหน้ากากอนามัย มีแนวโน้มเปิดเสรีและเร่งสร้างความร่วมมือในระดับเทคนิคระหว่างประเทศโดยใช้ข้อตกลงทางการค้าต่างๆเพิ่มมากขึ้น

“โควิด19 เป็นจุดสำคัญที่นำไปสู่ความต้องการความร่วมมือและพยายามที่จะลดข้อกีดกันทางการค้ารวมถึงสร้างมาตรฐานทางการค้าลง เพราะในปัจจุบันที่สินค้ากลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าสุขอนามัยอื่นๆ มีแนวโน้มขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง "รายงานระบุ

ด้านกฎระเบียบการค้าทั้งการนำเข้าสินค้าและ 1590419208100 ส่งออกใช้ระเบียบที่ไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าข้อตกลงการค้าบางฉบับอาจมีเงื่อนไขการนำเข้าต่างๆ เช่น กำแพงภาษีเชิงเทคนิค และรูปแบบเงื่อนไขการค้าแลกความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนา

รายงานได้ยกตัวอย่างความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ซึ่งปัจจุบันมีผลแล้วกับ 13 ประเทศ โดยบทบัญญัติในส่วนของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ครอบคลุมเรื่องต่างๆ อาทิ เงื่อนไขการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความโปร่งใสและมีกระบวนการขอยื่นทบทวนได้ และจะนำกระบวนการพิจารณามาเป็นข้ออ้างเพื่อซื้อเวลาไม่ให้ขึ้นทะเบียนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ซีพีทีพีพีได้ระบุถึงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างสมาชิกในทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์ชั้นสูงเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตด้วย

สำหรับประเทศไทยมีทิศทางการค้ากลุ่มเครื่องมือแพทย์ โดยล่าสุดรัฐบาลไทยได้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าหน้ากากอนามัย เป็นการชั่วคราวถึงก.ย.2563 และเตรียมที่จะปรับลดเครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์ชุดตรวจหาไวรัสโควิด-19 ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 แล้ว รวมทั้งยังได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้าที่ใช้ในการรักษา วินิจฉัย และป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำเข้ามาเพื่อการบริจาค เป็นระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563-28 ก.พ. 2564

ทางด้านสถิติการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางการแพทย์ของไทยในปี 2562 พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าทางการแพทย์ที่ 8,552 ล้านดอลลาร์แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 3,656 ล้านดอลลาร์มูลค่าการนำเข้าที่ 4,896 ล้านดอลลาร์

โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่นและเวียดนาม สินค้าสำคัญ เช่น วัสดุที่ใช้ทางการแพทย์ เช่น แอลกอฮอล์ ผ้าก๊อก เข็มฉีดยาสินค้าใช้ในการป้องกันส่วนตัว เช่น สบู่ล้างมือ สเปรย์ล้างมือ หน้ากากอนามัย แว่นตาป้องกันยาและเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอ็กซเรย์

 หลังโควิด หากนำมิติทางการค้ามาสร้างความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับไวรัส ท้ายที่สุดเราทุกคนจะไม่เพียงรอดตาย ไม่เจ็บป่วย แต่อาจมีสุขอามัยที่ดีได้ต่อไป และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีด้วย