กฟผ.-ปตท.จ่อเซ็นสัญญาซื้อก๊าซฯเร็วๆนี้

กฟผ.-ปตท.จ่อเซ็นสัญญาซื้อก๊าซฯเร็วๆนี้

กฟผ.เตรียมเซ็นซื้อขายก๊าซฯหลัก Global DCQ กับ ปตท. ในเร็วๆนี้ หลังบอร์ด ไฟเขียวร่างสัญญา หนุนความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้า ตลอด 10 ปี แย้มยังเปิดช่องให้นำเข้า “แอลเอ็นจี” อีก 1 ล้านตันต่อปี

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เตรียมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก หรือ Global DCQ ที่จะรับซื้อก๊าซฯจาก บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ในเร็วๆนี้ เพื่อให้มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค.2563 เป็นต้นไป หลังจากสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะสั้นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย.2563 

โดยการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯหลักดังกล่าว ได้ฝ่ายการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา หลังจากร่างสัญญาฯดังกล่าว ได้ผ่านการตรวจสอบและเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และขั้นตอนต่อไป กฟผ.จะต้องมีการลงนามในสัญญาฯกับ ปตท.และดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของสัญญา Global DCQ นั้น ปตท.จะเป็นผู้จัดหาก๊าซฯ ป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ. ทั้งหมด เป็นระยะเวลา 10 ปี อาทิ โรงไฟฟ้าบางปะกง วังน้อย พระนครเหนือ พระนครใต้ จะนะ ยกเว้น โรงไฟฟ้าน้ำพอง ที่จะมีการเจรจาเพื่อทำสัญญากันในภายหลัง ซึ่งในสัญญาซื้อขายก๊าซดังกล่าว จะเปิดช่อง ให้ กฟผ. สามารถนำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเองได้ด้วยในปริมาณปีละ 1 ล้านตัน ก่อนหน้านี้ บอร์ด กฟผ. เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2562 ได้เห็นชอบในหลักการสัญญา Global DCQ ไปแล้ว เพื่อไปจัดทำรายละเอียดแบบเป็นสัญญาฉบับสมบูรณ์ และส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบความถูกต้องต่อไป

โดยเบื้องต้น กฟผ.ได้กำหนดปริมาณซื้อขายก๊าซฯLNG ภายใต้สัญญา Global DCQ คาดว่า จะอยู่ในกรอบ 3.5-5 ล้านตันต่อปี โดยมีอายุสัญญา 10 ปี(ปี2563 – 2572) จากปัจจุบัน กฟผ. มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ การบรรลุข้อตกลงในการเจรจาสัญญา Global DCQ ระหว่าง กฟผ.และ ปตท. เป็นไปตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) หลังจากที่ผ่านมา พบว่า สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลังสิ้นสุดอายุไปตั้งแต่ ปี 2557 และ กฟผ.เลือกแนวทางการทำสัญญาระยะสั้นแบบปีต่อปีมาโดยตลอด เนื่องจากยังไม่สามารถเจรจาเงื่อนไขต่างๆให้เกิดความชัดเจนได้