ปตท.ปรับแผนสู้โควิด-19 หั่นงบลงทุนปี2563ลง15%

ปตท.ปรับแผนสู้โควิด-19  หั่นงบลงทุนปี2563ลง15%

ปตท.ชง บอร์ด 28 พ.ค.นี้ หั่นงบค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น 10-15% พร้อมจัดทำแผนตั้งสมมติฐานรับมือโควิด-19 ฉุดฉุดกำไรไตรมาส 1 หด เสนอ สคร. ในเดือน มิ.ย.นี้ ปรับแผนลงทุนรัฐวิสาหกิจ

นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างปรับแผนการลงทุนปี 2563ภายใต้แผนการดำเนินของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปีนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งการทบทวนแผนลงทุนฯในครั้งนี้ เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (รสก.) ทั้งหมด ไปจัดทำปรับแผนการลงทุนระยะสั้นปีนี้ แล้วนำมาเสนอภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนส่งให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พิจารณา และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อปรับแผนฯต่อไป

“เดิม รสก.จะจัดทบทวนแผนการลงทุนปีละครั้ง แต่โควิด-19 ทำให้ต้องทบทวนแผนในช่วงกลางปีนี้ เพราะสคร.เห็นว่า ผลกระทบค่อยข้างรุนแรงและหลาย รสก.คงไม่มีใครทะได้ตามเป้า จึงต้องปรับใหม่เนื่องจากจะมีผลต่อ KPI วัดประสิทธิภาพของหน่วยงาน”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไปปรับแผนการลงทุนโดยลดงบค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินไว้ โดยในส่วนของ ปตท.ได้จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้สมมติฐานต่างๆ เช่น สมมุติฐานกรณีเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากคุมการระบาดได้เร็วสุดราวเดือนก.ค.นี้ เป็นต้นไป และกรณีเลวร้ายสุด การควบคุมการระบาดจะอยู่ในต้นปี 2564

โดยแผนการลงทุนที่ ปตท. จะนำเสนอต่อ สคร. จะเป็นไปภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งก็มีแนวโน้มเป็นไปได้จากกระแสข่าวการค้นพบวัคซีน และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก จนส่งผลทำให้ดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมัน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขยับขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่ม ปตท.ในช่วงไตรมาส 2-4 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ปตท.เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. หรือ บอร์ด ปตท.อย่างเร็วในวันที่ 28 พ.ค.นี้ พิจารณาอนุมัติแผนควบคุมค่าใช้จ่าย และตัดลดงบที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน โดยหนึ่งในมาตรการคือ “ลด-ละ-เลื่อน” เบื้องต้นคาดว่า ลดงบลงทุนในปีนี้ได้ประมาณ 10-15%

นางอรวดี กล่าวว่า ปตท.ยังคาดว่า ผลดำเนินการทั้งปี 2563 จะเป็นบวก เนื่องจากประเมินว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปีนี้ ที่ขาดขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันดิบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท.ประมาณ 50% หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท จากทั้งกลุ่ม ปตท.ขาดทุนสต็อกน้ำมันรวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่า ไตรมาส 1 ผลการดำเนินงานได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และระดับราคาน้ำมันในช่วงเดือน เม.ย. 2563 ที่ลงไปแตะระดับ 19 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะผ่านจุดต่ำสุด ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานสิ้นไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1 แต่ด้วยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีนี้ ที่ขาดทุน อาจส่งผลกระทบต่อการจัดส่งเงินเข้ารัฐ ซึ่งทุกรัฐวิสาหกิจก็คงถูกระทบหมดและเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ขณะที่สภาพคล่องทางการเงินของ ปตท.มีสูงและแข็งแกร่ง โดยสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ BBB+ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศ โดยประเมินว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบปีนี้ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และค่าการกลั่นอ้างอิงสิงคโปร์ในปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.0-3.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากปีก่อน

สำหรับแนวทางลดผลกระทบโควิด-19 และราคาน้ำมันที่ตกต่ำจากปัญหาสงครามราคาน้ำมันนั้นดปตท.ได้จัดทำแผน PTT Group Vital Center มาบริการจัดการภายใต้กลยุทธ์ 4R ประกอบด้วย 1.Resilience คือการสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงานการประเมินศักยภาพองค์กรด้วยการจัดทำStress Testsการลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน ของปตท.และรักษาสภาพคล่องขององค์กร

2.Restart คือการเตรียมความพร้อมดำเนินธุรกิจนำพนักงงานลูกค้าและคู่ค้ากลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุดและรักษาการแข่งขันของกลุ่มปตท. ไว้ให้ได้ 3.Re-imagination คือการเตรียมพร้อมออกแบบธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงNext Normalทั้งในด้านธุรกิจ Upstream ธุรกิจ Downstream แล ะNew S-Curve และ4. Reform คือการปรับเปลี่ยนหรือจัดโครงสร้างองค์กรรวมถึง การวางรูปแบบธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับองค์กรในอนาคตรองรับทุกสถานการณ์ที่อาจไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในทุกมิติ

โดย Re-imagination และ Reform จะจัดทำอย่างเข้มข้นในการประชุม PTT Group Strategic Thinking Session : STS ของกลุ่มปตท.ที่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้ ซึ่งจะเป็นการทบทวนแผนการลงทุน 5 ปีด้วย