เครือข่ายแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ผลักดันจัดตั้งชุมชนจัดการไฟ หนุน อปท.

เครือข่ายแก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ผลักดันจัดตั้งชุมชนจัดการไฟ หนุน อปท.

เร่งรัฐตั้งกรรมการศึกษาประเด็นขัดแย้งด้านวิชาการ พร้อมผลักดันร่าง กม. อากาศสะอาด

กลุ่มงานยุทธศาสตร์นโยบาย สภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้มีการประชุมหารือวานนี้ เรื่องแนวนโยบายใหม่ของรัฐบาลในการปก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ หลังจากที่ พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อม เดินทางมาฟังสรุปการถอดบทเรียน ARR การแก้ปัญหาปี 2563 เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา และกำลังจะให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอแผนงานของปี 2564 เข้าครม.

ที่ประชุมเห็นว่า แนวโน้มของมาตรการแก้ปัญหาปีหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรจากปีนี้ โดยเฉพาะด้านอำนาจอำนวยการที่จะมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ เป็นประธาน ลักษณะเดียวกับการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติการระดับพื้นที่ อาจจะเกิดปัญหาได้ หากไม่มีการประสานแผน เพราะรายละเอียด ข้อจำกัด และเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่นั้นๆ เพราะการเกิดฝุ่นควันและไฟมีหลากหลายสาเหตุ ซึ่งแตกต่างจากโรคระบาดในมิตินี้

ทางสภาฯ วิเคราะห์ว่า แนวโน้มของการถ่ายโอนภารกิจให้กับ อปท. ตามที่เสนอในการประชุมถอดบทเรียนอาจจะไม่รวดเร็วเท่าที่คิด ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาของปี 2564 มีทั้งแบบใหม่และเก่าผสมผสานกัน

สภาฯ มองว่า ข้อต่อสำคัญของแนวทางระดมศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่นมาร่วมด้วยช่วยจัดการไฟก็คือ ชาวบ้านในระดับชุมชนที่ลุกขึ้นมาอยากมีส่วนในการจัดการไฟ เพื่อประสานเสริมกับ อปท. ที่จะมาเป็นหน่วยงานกลางระดับตำบล

สภาฯ จึงกำหนดเป้าหมายว่า จะพยายามประสานไปยังชุมชนและเครือข่ายที่มีศักยภาพด้านการจัดการไฟ เพื่อจัดตั้ง “เครือข่ายชุมชนจัดการไฟ” ที่จังหวัดเชียงใหม่ขึ้นมาก่อนภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ทันการกับการฝึกอบรมและการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ

ที่ประชุมสภาฯ มองว่า มาตรการของรัฐในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพดับไฟยังไม่เพียงพอ ต้องทำควบคู่ไปกับการขจัดความขัดแย้งและเห็นต่างในประเด็นต่างๆ ของสังคมพร้อมกัน เพราะปัญหาฝุ่นควันและไฟมีสาเหตุที่หลากหลาย ทั้งเป็นผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆ รวมถึง ทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ อาทิเช่น จะต้องมีคณะกรรมการระดับชาติระดมผู้เชี่ยวชาญด้านวนศาสตร์ นิเวศวิทยา ป่าไม้ ฯลฯ เพื่อให้ได้บทสรุปว่า การจัดการไฟในนิเวศป่าผลัดใบภาคเหนือ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง ควรจะให้มีการใช้ไฟจัดการเชื้อเพลิงหรือไม่ ขนาดไหน ระดับไหน หรือ ไม่ต้องใช้ไฟธรรมชาติสามารถจัดการตัวเองได้

159040672885

โดยประเด็นด้านวิชาการที่สภาฯ จะเสนอต่อรัฐบาล คือให้มีคณะกรรมการศึกษาประเด็นปัญหาโดยเร็ว ประกอบด้วย ข้อถกเถียงเรื่องการใช้ไฟในการจัดการป่าภาคเหนือ, โมเดลภูมิศาสตร์และระบบนิเวศสภาพอากาศในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งมีผลต่อมลพิษฝุ่นควัน, ตารางสาเหตุของไฟและฝุ่นควันของแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อให้สามารถจำแนกที่มาของปัญหาให้ละเอียดขึ้น และการหาตัวเลขที่แท้จริงของไร่หมุนเวียนในแต่ละฤดูกาล โดยคำนวณการใช้ไฟ ชีวมวล ของไร่หมุนเวียนเทียบกับสัดส่วนการใช้ไฟของการเกษตรทั้งหมด

โดยสภาฯ จะประสานกับภาครัฐขอให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ทันฤดูกาลหน้า

ที่ประชุมฯ ยังเห็นว่า รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความชัดเจนถึงเจตจำนง (political will) ที่จะแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควันให้ถึงที่สุดในระดับเดียวกับปัญหาโรคระบาดที่กำลังปฏิบัติอย่างเข้มข้น ในปีนี้ ทางสภาฯจะร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทวงถามและผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งก็คือหลักประกันในแง่ของเจตจำนงของรัฐ รวมถึงความเอาจริงเอาจังกับรัฐบาลให้ติดตามอำนวยการให้การแก้ปัญหาระหว่างปีเป็นไปด้วยดี

ทั้งนี้ สังคมจะเหลือเวลาในการเตรียมการและจัดการเรื่องราวต่างๆ อีกประมาณ 8 เดือน ก่อนฤดูมลพิษฝุ่นควันไฟรอบใหม่จะกลับมาอีกครั้ง สภาฯ ระบุ

ภาพ/ WEVO สื่ออาสา