ทีวีจิทัลควงแขนสื่อสาร ลุ้นลดยืดค่าธรรมเนียม

ทีวีจิทัลควงแขนสื่อสาร  ลุ้นลดยืดค่าธรรมเนียม

สถานการณ์หลายธุรกิจหลังเปิดดำเนินการปกติ ภายใต้การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) แม้จะดีขึ้นกว่าการปิดให้บริการไปเลย แต่ก็ยังอยู่ในภาวะยากลำบากในการทำธุรกิจ เพราะด้วยข้อจำกัดการให้บริการต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลทำให้ยอดขายไม่สามารถกลับมาปกติ

รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นเน้นอยู่กับบ้าน สั่งอาหารมารับทานหรือทำกินเอง เสพข้อมูลข่าวสารผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้หลายธุรกิจจึงต้องอยู่ในโหมดระมัดระวังลด-หั่น-ตัด ค่าใช้จ่ายออกให้ได้มากที่สุด

ฝากกลุ่มธุรกิจ ‘ทีวีดิจิทัล’ และ กลุ่ม ‘สื่อสาร’ แม้จะได้รับผลดีจากการใช้บริการอินเตอร์เน็ตมากขึ้นหรือเรตติ้งเพิ่มตามฐานคนดูที่เฝ้าหน้าจอที่อยู่กับบ้าน แต่ผลกระทบมีไม่น้อยทั้งรายได้ค่าโฆษณาที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูงต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแล กสทช. ได้ประกาศมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนของ 2 กลุ่มธุรกิจ จากก่อนหน้านี้มีการให้กลุ่มสื่อสารเพิ่มความเร็วอินเตอร์เป็น 10 กิ๊กกะไบต์ ช่วง 1 เดือน และเพิ่มค่าโทรฟรี 100 นาที ด้วยการจ่ายเงินชดเชย  ประเมินว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ได้ประโยชน์ 1,400 ล้านบาท 

บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้ประโยชน์ 1,175 ล้านบาท และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้ประโยชน์ 663 ล้านบาท แต่ต้องแลกกับการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการยืดการชำระค่าโทรและเพิ่มรอบการจ่ายบิลนานขึ้น ท่ามกลางจำนวนผู้ใช้บริการโทรน้อยลง

ขณะที่กลุ่มทีวีดิจิทัล ที่ยังเหลืออยู่ 15 ช่อง จากทั้งหมด 22 ช่อง สถานการณ์ยังไม่ดีนัก สิ้นปี 2562 หลายช่องยังมีรายได้ลดลงและขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อน กสทช. ได้มีมติปรับลดอัตราการนำส่งเงินรายปีเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ USO Fee สำหรับผู้ประกอบกิจการดิจิตอลทีวีและผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงเป็นแบบขั้นบันไดเหลือ 1.25-1.54 %

กลุ่มนี้ได้ประโยชน์มาที่สุด บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เพราะสามารถประหยัดต้นทุน 82 ล้านบาท ตามด้วย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK ประหยัดต้นทุน 25 ล้านบาท และ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ได้รับประโยชน์เพียงเล็กน้อยเพียง 7 ล้านบาท เท่านั้น เนื่องจากแหล่งรายได้ส่วนใหญ่กว่า 60% มาจากธุรกิจพาณิชย์

โดย กสทช.จะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมอีกด้วยการพิจารณามาตรการขยายเวลาการชำระค่าธรรมเนียมรายปีและค่า USO แบ่งเป็นค่า Regulatory fee ราว 1.5% ของรายได้ และค่า USO fee ราว 2.5% ของรายได้ ให้กับผู้ประกอบการทั้งสองกลุ่ม 

เบื้องต้นแนวทางมีทั้งการยืดชำระออกไปจากเดิมที่ต้องชำระสิ้นเดือนพ.ค. ของทุกปี รวมทั้งอาจให้ผ่อนจ่ายได้ 50% ในวันที่ครบกำหนดชำระช่วงกลางปีนี้ ขณะที่อีก 50% ให้จ่ายได้ภายหลัง ซึ่งจะมีการประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 27 พ.ค. เพื่อหาข้อสรุปและน่าจะประกาศภายในวันที่ 28 พ.ค นี้

อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวยังมีความเสี่ยง เพราะจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวของ กสทช. ยังไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจในการเคาะเลื่อนหรือขยายเวลาให้ผู้ประกอบการลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

โดยในมุมองบริษัทหลักทรัพย์ (บล.)หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่าหากมีการเลื่อนจ่ายจริงจะช่วยให้การบริหารกระแสเงินสดของบริษัทในสองกลุ่มนี้ดีขึ้น แต่ในงบกำไรขาดทุนยังคงมีภาระจ่ายเช่นเดิมไม่มีผลกระทบต่อประมาณการกำไร และปัจจัยดังกล่าวเป็นผลบวกต่อทิศทางราคาหุ้นไม่มีผลต่อตัวเลขการดำเนินการ

หากประเมินจากค่าใช้จ่ายในส่วนนี้  ADVANC ได้ประโยชน์สูงสุด  เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียม (Regulatory cost) สูงที่สุด ราว 6 พันล้านบาทต่อปี จากรายได้ที่สูงที่สุด ตามมาด้วย DTAC และ TRUE ที่ราว 3 พันล้านบาทต่อปี