เตรียมเปิด ‘สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา’ ให้บริการ มิ.ย.63

เตรียมเปิด ‘สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา’ ให้บริการ มิ.ย.63

กทม. เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่ม 4 สถานี และเปิดให้บริการ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” เป็นทางการเดือนมิ.ย. นี้

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.63  พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2563 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

โดยในวันนี้ที่ประชุมฯ รับทราบการเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จากสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (N 13) – สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N 17)  เพิ่มอีก 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีกรมป่าไม้ สถานีบางบัว สถานีกรมทหารราบที่ 11 และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเปิดทดลองเดินรถในวันที่ 4 มิ.ย. 63

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้าการจัดทำสวนสาธารณะลอยฟ้า บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ หรือ สะพานด้วน ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า ที่มีทางเดินและทางจักรยานอยู่ด้วย ความยาว 280 เมตร เชื่อมการสัญจรฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร

โดยกรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการประกวดตั้งชื่อสวนสาธารณะลอยฟ้าดังกล่าว ขณะนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกชื่อเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้ชื่อว่า “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” (Chao Phraya Sky Park) โดยในวันศุกร์ที่ 29 พ.ค. นี้ เวลา 19.30 น. จะตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง ทั้งนี้สวนลอยฟ้าดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณต้นเดือน มิ.ย. 63 และกรุงเทพมหานครจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเปิด “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างเป็นทางการในช่างปลายเดือน มิ.ย. 63

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการขุดลอกคู คลองต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการใน 95 คลอง ขณะนี้สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตได้ดำเนินการตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา จำนวน 17 คลอง คาดว่าทั้ง 17 คลองนี้ ทั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้เองประมาณ 30 กว่าคลอง ส่วนอีก 60 คลองที่เหลือจะต้องขอจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อดำเนินการต่อไป