ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 25-29 พ.ค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 18-22 พ.ค. 63

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์"ราคาน้ำมัน" 25-29 พ.ค. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 18-22 พ.ค. 63

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังความต้องการใช้ฟื้นตัว และกำลังการผลิตน้ำมันดิบปรับลด

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 30-36 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 33-37 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 – 29 พ.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับตลาดยังได้รับแรงหนุนจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามข้อตกลงร่วมกันที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 63 รวมทั้งกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง  

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาดำเนินการ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก โดยรายงานประจำเดือนของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 จะหดตัวที่ 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับสูงขึ้นจากคาดการณ์เดิม 690,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณการใช้น้ำมันดิบของจีนในเดือน เม.ย. 63 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังความต้องการใช้น้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมือง
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรได้ปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงร่วมกันที่ระดับ 7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 63 รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ได้ปรับตัวลดลงอย่างมากโดยเฉพาะการผลิตในรัฐนอร์ธ ดาโกตาและรัฐเท็กซัส
  • ซาอุดิอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย. 63 นอกเหนือจากที่ได้ปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตร ซึ่งคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียในเดือน มิ.ย. 63 จะอยู่ที่ระดับ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทางด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และคูเวตเตรียมที่จะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 180,000 บาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ รายสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ค. 63 เฉลี่ยอยู่ที่ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลง 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ ปรับตัวลดลง 5 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 527 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์
  • อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปและค่าการกลั่นในสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ค. 63 ยังปรับตัวสูงขึ้น โดยปริมาณเบนซินคงคลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานคงคลังปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8 ล้านบาร์เรล
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ จีดีพีไตรมาส 1/63 ของสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 22 พ.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.82 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 33.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.13 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 32.64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองของหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรได้ปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลง รวมถึงการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ล่าสุด ปรับลดลง 35 แท่น สู่ระดับ 339 แท่น ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์