แพทย์ระบาดแนะไม่ต้องเรียนออนไลน์ทุกพื้นที่ จัดระบบตามระดับความเสี่ยง

แพทย์ระบาดแนะไม่ต้องเรียนออนไลน์ทุกพื้นที่ จัดระบบตามระดับความเสี่ยง

สธ.ย้ำอย่าชะล่าใจ ยังมีผู้ติดเชื้อในชุมชน จุดเสี่ยงระบาดกลุ่มก้อนใหญ่อยู่ในพื้นที่รวมคนมาก ไม่อยากให้ปิดๆเปิดๆกิจการ ต้องคงผู้ติดเชื้ออยู่ที่วันละ 5 ต่อล้านประชากร แนะจัดระบบเปิดเทอมแยกกลุ่มร.ร.ตามความเสี่ยงพื้นที่-จำนวนนักเรียน-ลักษณะห้องเรียน

    เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019หรือโควิด-19 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยเกิดขึ้นค่อนข้างน้อยแต่ยังจะเจอผู้ป่วยต่อไปแบบรายทั้งนี้ถ้าเราสามารถคงแนวโน้มลักษณะผู้ป่วยแบบนี้ต่อไปจะทำให้เราคงสภาวะของการมีแพร่ระบาดในวงจำกัดต่อไปได้ยาวซึ่งเป็นสภาพที่เราอยากจะเห็นอยู่แล้วเราไม่อยากจะเห็นจำนวนผู้ป่วยกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้คล้ายกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดี แต่มีบางส่วนที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเองของประชาชน ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่าง
        อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าเริ่มมีการหย่อนมาตรการส่วนบุคคลในการป้องกัน การสวมหน้ากากเริ่มลด การเว้นระยะห่างเริ่มน้อย รวมถึง มาตรการองค์กรในการให้พนักงานทำงานที่บ้านก็หย่อนเช่นเดียวกัน เห็นได้จากกรณีที่มีความแออัดในการใช้รถสาธารณะที่หนาแน่นอย่างมาก จึงอยากขอความร่วมมือองค์กรและบริษัทต่างๆ ที่จะออกนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านให้มากที่สุดหรือเหลื่อมเวลาการทำงาน นอกจากนี้ส่วนใดที่สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ก็ขอให้ทำเพื่อลดความแออัด
           ส่วนสถานการณ์การตรวจหาเชื้อของประเทศไทยอยู่ที่สัปดาห์ละประมาณ 4.5 หมื่นตัวอย่าง หรือวันละ 6,000 ตัวอย่าง ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อแค่ 5 ราย แต่การค้นหาผู้ป่วยเป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข จะเน้นหนักต่อไป เพื่อให้มาตรการค้นหาผู้ป่วยสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ที่สุด ให้เจอผู้ป่วยรายใหม่ได้เร็ว ซึ่งจะทำให้การควบคุมโรคเกิดขึ้นเร็วที่สุดด้วย หากสามารถดำเนินมาตรการสาธารณสุขได้อย่างเข้มข้น ก็จะลดโอกาสกลับไปใช้มาตรการทางสังคมที่เป็นการบังคับได้
         “กรณีผู้ติดเชื้อ 3 รายล่าสุดที่เป็นการติดเชื้อจากชุมชน เป็นตัวบอกว่ายังมีคนติดเชื้ออยู่ในชุมชนในประเทศ เพราะในขณะที่คนจำนวนมากคิดว่าไม่มีผู้ป่วยแล้ว แต่ก็มีรายงายการพบผู้ป่วยที่ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุเดินเข้ามาและตรวจเจอเชื้ออยู่เป็นระยะๆ สถานการณ์ในประเทศไทย ตอนนี้ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังกันต่อเนื่องต่อไป หากประชาชนดูแลสุขภาพของตัวเองและคงมาตรการควบคุมป้องกันโรคส่วนตัวที่ดีต่อไป”นพ.ธนรักษ์กล่าว
    นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่เชื้อและระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ จะเกิดในสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก และหากสามารถคงสถานการณ์ให้มีผุ้ป่วยระดับต่ำๆ หรือมีการระบาดน้อย ในระดับมีผู้ติดเชื้อวันละ 5 รายต่อล้านประชากรต่อไปได้เรื่อยๆ ก็จะทำให้ประเทศไม่ต้องปิดๆเปิดๆกิจการ/กิจกรรมต่างๆ หรือนำมาตรการทางสังคมที่เป็นการบังคับกลับมาใช้อีก ยกตัวอย่าง พื้นที่กรุงเทพฯหากมีประชาการ 10 ล้านคนแล้วมีรายงานผู้ติดเชื้อ 40 คนต่อวันก็ยังถือว่าระบาดวงจำกัด ซึ่งช่วงที่มีการระบาดวงกว้างก่อนหน้านี้กรุงเทพฯมีผู้ป่วยราว 100 คนต่อวัน
       ผู้สื่อข่ามถามถึงการเรียนออนไลน์ของนักเรียนในพื้นที่ปลอดโรค นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า การจะเปิดเรียนนั้นต้องพิจารณาว่าโรงเรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ และโรงเรียนนั้นมีความเสี่ยงหรือไม่ด้วย โดยหากพื้นที่ตั้งโรงเรียน ไม่มีรายงานผู้ป่วยมาต่อเนื่อง 28 วันถือว่าพื้นที่ไม่เสี่ยง และโรงเรียนไม่มีความแออัด จำนวนนักเรียนต่อห้องไม่มาก และห้องเรียนไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ ในหลักการก็จะถือเป็นความเสี่ยงต่ำ สามารถเปิดโรงเรียนได้ก่อน แต่จะต้องคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคลในการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่าง

     สำหรับพื้นที่ที่ยังมีรายงานผู้ป่วยหรือกรุงเทพมหานคร ที่ยังมีรายงานการพบผู้ป่วยเกิดขึ้น โรงเรียนมีความแออัด นักเรียนในชั้นเรียน 40-50 คน และห้องเรียนมีเครื่องปรับอากาศนั้น ขณะเดียวกันโรงเรียนมีสมรรถนะสูงในการสอนออนไลน์ก็ให้คงการเรียนออนไลน์ไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าในเร็วๆนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะมีการหารือเรื่องเกี่ยกับมาตรการรองรับการเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563