'บับเบิ้ลโมเดล' นิวนอร์มัลเด็กปฐมวัย

'บับเบิ้ลโมเดล' นิวนอร์มัลเด็กปฐมวัย

กรมอนามัยแนะใช้ “บับเบิ้ลโมเดล” จัดการเรียนรู้เด็กปฐมวัยรับการเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แยกกลุ่มย่อยเด็กไม่เกิน 6 คนเรียนรู้ร่วมกัน ห้ามใกล้ชิดข้ามกลุ่ม ป้องกันติดโควิด-19

       เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการสำหรับการเปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบ หลักการสำคัญคือการจัดให้เด็กเรียนเป็นกลุ่มย่อยไม่เกิน 5-6 คนต่อกลุ่ม เหมือนฟองอากาศ เรียกว่า บับเบิ้ล โมเดล(Bubble Model) โดยให้เด็กที่อยู่คนละกลุ่มย่อยมีการใกล้ชิดกันให้น้อยที่สุดหรือไม่ให้ใกล้ชิดกันเลย ซึ่งได้มีการพูดคุยกับครูที่จะทำหน้าที่นี้ ครูยืนยันว่าปกติในการดูแลเด็กปฐมวัยก็จะทำเป็นหน่วยย่อยๆอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จะต้องเน้นเรื่องความสะอาดด้วย โดยให้เด็กแต่ละกลุ่มย่อยล้างมือทุกครั้งหลังใช้พื้นที่เรียนรู้ และทำความสะอาดสถานที่นั้นก่อนที่จะให้กลุ่มย่อยอื่นเข้าใช้งานต่อไป
        ขณะที่จุดเน้นหนักที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องถือปฏิบัติในสถานการณ์โควิด 19 ประกอบด้วย การทำความสะอาดพื้นที่ร่วม การเข้าแถวเว้นระยะห่าง การใช้ของส่วนตัวแม้กระทั่งของเล่นจะต้องจัดเป็นเซต ยกเว้นบางอย่างที่ต้องใช้ร่วมกัน การจัดห้องแยกเตรียมไว้กรณีเด็กไม่สบาย แต่หากเป็นไปได้กรณีที่ลูกไม่สบายอาจจะต้องให้หยุดอยู่ที่บ้านหรือถ้าจำเป็นครูจะต้องกันเด็กที่ไม่มั่นใจออกจากกลุ่มทันที เพื่อรอให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย การสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเพราะเด็กเล็กต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายส่วน ต้องอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น และรถรับส่งสำหรับเด็กเล็กต้องสะอาดปลอดภัย รวมถึงการยึดมาตรการหลักในเรื่องการวัดไข้ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ทำความสะอาดและลดแออัด
        คำแนะนำสำหรับผู้บริหารเจ้าของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ ชี้แจง ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และผู้ปกครอง ควบคุม กำกับ ดูแล ครู เจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ จัดให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารแก่ผู้ปกครอง กรณีพบผู้ติดโรคโควิด หรือผู้ต้องสงสัยให้ผู้บริการแจ้วหน่วยงานทางการแพทย์ทราบ กำหนดจุดรับส่ง เตรียมพร้อมอุปกรณ์ล้างมือ ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์และยานพาหนะ จัดทำอาหารที่ถูกสุขอนามัย และมีมาตรการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร
        ส่วนคำแนะนำสำหรับครูและผู้ดูแลเด็ก หากครูมีอาการเจ็บป่วย ให้หยุดงานและพบแพทย์ ทำความสะอาดร่างกายก่อนปฏิบัติงาน กิจกรรมเด็กทั้งหมดให้เน้นการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรและเป็นกลุ่มย่อย ไม่เกินกลุ่มละ 6 คน สำหรับผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน หากเด็กมีอาหารเจ็บป่วย ให้หยุดเรียนและพบแพทย์ ทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือเมื่อกลับถึงบ้าน เตรียมของใช้ที่จำเป็นเพื่อใช้สับเปลี่ยน ไม่ไปที่มีคนแออัด
        เมื่อถามถึงหากพบการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็กจะทำอย่างไร พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ก็จะมีการออกมาตรการคล้ายกับที่อื่นโดยหลักการแค่สงสัย ถ้าท่านมีประวัติหรือความเสี่ยงที่ทำให้สงสัยว่าเด็กเองจะเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดจะต้องแจ้งสาธารณสุขทันที หรือให้หาหมอทันทีซึ่งจะมีการแจ้งต่อกรมควบคุมโรคต่อไปว่าจะมีมาตรการให้ปิดชั้นเรียนหรือผิดโรงเรียนและมีมาตรการเข้าไปดูแลอย่างไรต่อไป