'อลงกรณ์' ตอบจม. 'ธนกร' ปมหน้าที่ก.คลัง ตรวจความซ้ำซ้อน 'เยียวยาเกษตรกร'

'อลงกรณ์' ตอบจม. 'ธนกร' ปมหน้าที่ก.คลัง ตรวจความซ้ำซ้อน 'เยียวยาเกษตรกร'

"อลงกรณ์" ตอบจม."ธนกร" ระบุขั้นตอนตรวจสอบความซ้ำซ้อนจ่าย "เงินเยียวยาเกษตรกร" เป็นหน้าที่ของ ก.คลัง ตามมติครม. ยันข้าราชการทำอาชีพเกษตรไม่ควรได้รับเงินเยียวยา จากยังมีรายได้ประจำ คาดชงครม.ฟันธงอังคารนี้

เมื่อวันที่ 24 ..63 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ตอบจดหมายของนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและโฆษกพรรคพลังประชารัฐกรณีโครงการเงินเยียวยาเกษตรกร ความว่า

ขอบคุณที่น้องธนกรชี้แจงและอ้างถึงหนังสือของกระทรวงการคลังฉบับวันที่ 8 พ.ค.ซึ่งพี่ได้อ่านความอย่างละเอียดรอบคอบและปรากฎข้อความระบุชัดเจนเรื่องหน้าที่ของกระทรวงการคลังตั้งแต่บรรทัดแรกดังปรากฎความว่า (กระทรวงการคลัง) “ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯ กับฐานข้อมูลที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ 2 ฐานข้อมูล คือ ฐานข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเยียวยาฯ 5,000 บาท และฐานข้อมูลข้าราชการที่รับราชการปัจจุบันและข้าราชการบำนาญ ...”

น้องธนกรคงชัดเจนแล้วนะครับว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่อะไรเพราะในหนังสือของกระทรวงการคลังก็เขียนไว้ชัดเจนว่ากระทรวงการคลังได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่กระทรวงเกษตร และฐานข้อมูลที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ 2 ฐานข้อมูลคือ ฐานข้อมูลผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเยียวยาฯ5,000 บาท และฐานข้อมูลข้าราชการที่รับราชการปัจจุบันและข้าราชการบำนาญ

อย่างไรก็ตาม  ขออธิบายขั้นตอนดำเนินการอีกครั้งเพื่อจะไม่สับสนในหน้าที่ความรับผิดชอบอีก กล่าวคือ เมื่อกระทรวงเกษตรขึ้นทะเบียนเกษตรกรตามหลักเกณฑ์แล้วก็ส่งให้กระทรวงการคลังเพื่อให้ คัดกรองและตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน(โครงการเราไม่ทิ้งกัน) และตรวจสอบกับผู้ที่ได้รับสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการบำนาญ และระบบประกันสังคม เมื่อกระทรวงการคลังตรวจคัดกรองแล้วก็ส่งกลับมาให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งให้กับ ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรตามมติคณะรัฐมนตรี 28 เมษายน 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 - 'ธนกร' งัดเอกสารคลัง แจง 'อลงกรณ์' ยันข้อมูลเกษตรกรรับเงินเยียวยา เป็นหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ

นี่คือขั้นตอนและหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นเช่นนี้ครับ ขอยกตัวอย่างจริงๆ ที่ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

กระทรวงเกษตรฯ ส่งข้อมูลทะเบียนไปครั้งแรก 8.3 ล้านรายให้กระทรวงการคลังคัดกรองตรวจความซ้ำซ้อน ทางกระทรวงการคลังตรวจคัดกรองส่งกลับมาที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเหลือ 6.7 ล้านราย ในทางปฏิรูปเห็นชัดเจนว่ากระทรวงการคลังคัดกรองออกไปส่วนหนึ่ง และกระทรวงเกษตรฯส่งให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินเยียวยาตั้งแต่ 15 พ.ค. เป็นต้นมา 

น้องธนกรได้โปรดเข้าใจว่า การที่พี่ทักท้วงเป็นการส่วนตัวและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรต้องชี้แจงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เพราะเกรงว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะเกิดความสับสนจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของท่านรองนายก ท่านรัฐมนตรีคลัง ท่านเลขาธิการ สศค. และท่านเลขานุการรัฐมนตรีเป็นรายล่าสุด

พี่คิดว่าการทำงานเมื่อเกิดปัญหาก็แก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องการแก้ตัวหรือปัดปัญหาให้พ้นตัวเหมือนโยนกลอง และต้องสร้างความชัดเจนไม่ใช่สร้างความสับสน เรื่องกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบตามมติคณะรัฐมนตรีคงเข้าใจกันแล้วนะครับ

อย่างไรก็ตาม พี่คิดว่าประเด็นปัญหาเรื่องนี้ในสาระสำคัญคือ กรณีที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ไม่มีสิทธิ์โครงการเยียวยาเกษตรกร 3 กลุ่ม และหนึ่งในนั้นคือข้าราชการบำนาญ จึงมีประเด็นว่าข้าราชการประจำที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่ได้อยู่ในกลุ่มไม่มีสิทธิ์และมีเสียงคัดค้านว่าไม่เหมาะสม

นี่คือประเด็นที่เป็นปัญหาและต้องแก้ไข ไม่ใช่เริ่องที่จะโยนไปมา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯโดยท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ท่านปลัดกระทรวงไปหารือกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ ที่มีท่านเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ได้ความเบื้องต้นเห็นพ้องกันว่าคงไม่เหมาะสมที่ข้าราชการประจำที่ทำอาชีพเกษตร แม้จะขึ้นทะเบียนถูกต้องก็ไม่ควรได้รับเงินเยียวยา เพราะยังมีรายได้ประจำจากเงินเดือนข้าราชการ คาดว่าจะมีการพิจารณาในคณะรัฐมนตรีในวันอังคารนี้ กระทรวงเกษตรในฐานะผู้เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร 10 ล้านราย วงเงิน 150,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมติของคณะรัฐมนตรีและมติของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง การร่วมมือกันบนความเข้าใจที่ถูกต้องจะนำมาซึ่งประโยชน์ของเกษตรกรทั้งมวล 

สำหรับความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลควรให้เกียรติกันและกันตามมารยาททางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาก็ร่วมมือกันแก้ไข แบบร่วมด้วยช่วยกัน เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งสำคัญที่สุดครับ

ป.ล.ในหนังสือของกระทรวงการคลังฉบับวันที่ 8 พ.ค. ยังมีความสับสนอีกเรื่องหนึ่ง และน่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาข้าราชการประจำครับ แต่ขอเล่าให้ฟังเป็นการส่วนตัว เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวขอกาแฟที่กระทรวงการคลังแก้วเดียวพอครับหรือจะโทรมาก็ได้ทั้งนั้นครับ"