‘ไอเอ็มซี’ ปลุก 'เอไอ มาร์เก็ตติ้ง' รับวิถีธุรกิจยุค ‘นิว นอร์มอล’

‘ไอเอ็มซี’ ปลุก 'เอไอ มาร์เก็ตติ้ง' รับวิถีธุรกิจยุค ‘นิว นอร์มอล’

การตลาดแบบ AI as a Service จะเป็นทางเลือกใหม่ ที่เอสเอ็มอีไม่อาจมองข้าม

‘ไอเอ็มซี’ ดันการตลาดรูปแบบใหม่ ชู “เอไอ” วิเคราะห์ความต้องการ ผนึกซอฟต์แวร์ด้าน ‘เอไอ’ จากไต้หวัน ผุดโซลูชั่น ‘เอไอ มาร์เก็ตติ้ง’ สู่เครื่องมือทำธุรกิจยุคใหม่เอสเอ็มอี รับการตลาดยุค ‘นิว นอร์มอล’ เจาะพฤติกรรมฐานลูกค้าเดิม พร้อมเพิ่มฐานลูกค้าใหม่

นับจากนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกเปลี่ยนไปจากเดิม และไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป กระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นกดดันให้องค์กรปรับเปลี่ยนตัวเอง ยิ่งเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ยิ่งทำให้ธุรกิจทุกด้านหยุดชะงักภายใต้ความต้องการที่ยังมีอยู่ เป็นการกระตุ้นให้องค์กรจำเป็นต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองทันที เพื่อรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

‘ธนชาติ นุ่มนนท์’ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี เปิดเผยว่า มีองค์กรจำนวนมากก้าวเข้าสู่ถนนสายการตลาดดิจิทัล หรือดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งอย่างไม่รีรอ ประหนึ่งถูกบังคับให้ต้องเร่งมือดำเนินการ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มียอดขายเข้ามา ขณะที่กลุ่มลูกค้าเปลี่ยนช่องทางการซื้อมาเป็นออนไลน์ เนื่องจากเป็นช่องทางเดียวที่จะช้อปได้ โดยมีแรงหนุนอีกหนึ่งปัจจัย คือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ” หรือทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทำให้มีเวลาท่องโลกออนไลน์มากขึ้น

‘เอไอ มาร์เก็ตติ้ง’อาวุธใหม่เอสเอ็มอี

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้สร้างความปกติแบบใหม่ หรือ 'นิว นอร์มอล' ดังนั้นการตลาดดิจิทัลในแบบวิถีชีวิตใหม่ ก็ย่อมต้องเกิดขึ้นตามมาด้วย การตลาดแบบ ‘เอไอ แอส อะเซอร์วิส’ (AI as a Service) จะเป็นทางเลือกใหม่ ที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางไม่อาจมองข้ามได้ เข้าถึงตรงกลุ่มเป้าหมาย และมาพร้อมกับความประหยัด

ล่าสุด สถาบันไอเอ็มซี ขยายสายธุรกิจจากฝึกอบรม และบริการคำปรึกษาด้านบิ๊กดาต้า มาเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการตลาดภายใต้แบรนด์ แอพพิเออร์ (Appier) จากประเทศไต้หวัน สร้างทางเลือกใหม่ให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ได้พลิกโฉมองค์กรไปสู่โลกดิจิทัล ก้าวข้ามจาก ‘ออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง’ ไปสู่ ‘เอไอ มาร์เก็ตติ้ง’ ซึ่งแอพพิเออร์ เป็นเครื่องมือการตลาดที่ถูกพัฒนาขึ้นบนรากฐานของเทคโนโลยีเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ มุ่งนำเสนอแคมเปญส่งตรงถึงกลุ่มเป้าหมาย ผ่านช่องทางออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ

จุดแข็งของซอฟต์แวร์บริษัทแอพพิเออร์ สามารถเรียนรู้พฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์ และสร้างโมเดลการตลาดจากข้อมูลบุคคล มี 2 บริการหลัก คือ ไอควา (AIQUA) แพลตฟอร์มเอไอ มาร์เก็ตติ้ง ที่ใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าเดิม และไอซอน (AIXON) เครื่องมือวิเคราะห์ ทำนายรูปแบบความต้องการลูกค้า มีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าใหม่ให้องค์กร

“เอไอ มาร์เก็ตติ้ง อัจฉริยะกว่าออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง เข้าถึงตรงกลุ่มเป้าหมาย และสร้างแคมเปญให้ตรงพฤติกรรมความต้องการลูกค้าแต่ละราย จากการเรียนรู้ความสนใจของลูกค้า ตอบโจทย์ได้คุ้มค่า และประหยัด"

แพลตฟอร์มการตลาดอัตโนมัติเชิงรุก

ธนชาติ อธิบายว่า ไอควา จะเก็บข้อมูลความสนใจลูกค้าเมื่อเข้ามายังเว็บไซต์ ด้วยวิธีดึงข้อมูลจากจากเว็บเพจ ทำให้นักการตลาดเข้าใจความต้องการลูกค้า และสามารถสร้างแคมเปญที่ดีที่สุดให้ลูกค้าแต่ละราย ใช้เอไอเป็นเครื่องมือวิเคราะห์พฤติกรรมความต้องการลูกค้า ไอควา ทำงาน 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก คือ ระบุตัวบุคคลที่เข้ามาที่เว็บไซต์ ระบบจะรวบรวมข้อมูลโปรไฟล์ (อายุ เพศ อาชีพ) และความสนใจต่างๆ ของลูกค้าทั้งจากภายนอกและภายในเว็บ สามารถทำงานข้ามอุปกรณ์ ช่วยให้นักการตลาดแบ่งกลุ่มลูกค้าได้ตามพฤติกรรม ความชอบ ความสนใจ

ขั้นตอนที่ 2 กำหนดแคมเปญให้ลูกค้า พร้อมสร้างข้อความที่เฉพาะ ส่งตรงถึงลูกค้าในช่องทางที่เหมาะสม เชื่อมโยงได้หลายแพลตฟอร์มทั้ง อีเมล เฟซบุ๊ค และไลน์ ขั้นตอนที่ 3 วัดประสิทธิภาพแคมเปญ เพื่อทำการวิเคราะห์ และเชื่อมโยงเข้ากับกูเกิล อนาไลติกส์ ทั้งเชื่อมกับระบบซีอาร์เอ็มที่มีอยู่ และใช้งานได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังการตัดสินใจ

ปัจจุบัน แอพพิเออร์ มีฐานรายผู้บริโภค 2 พันล้านราย พร้อมให้บริการต่อลูกค้าบนแพลตฟอร์มอัจฉริยะ คือ ไอซอนทำหน้าที่วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อให้คาดการณ์ความต้องการได้แม่นยำกว่าการตลาดแบบเดิม เอไอจะเรียนรู้เพื่อทำนายรูปแบบความต้องการต่างๆ วิเคราะห์ เพื่อนำเสนอแคมเปญที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค นักการตลาดแค่รอการสั่งซื้อจากลูกค้า แล้วคัดเลือกอีกครั้งก่อนส่งออกแคมเปญออกไป

ระบบทำงานแบบอัตโนมัติดังนั้นผู้ประกอบจึงไม่จำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีพื้นฐานทางเทคนิคด้าน ดาต้า ไซอันซ์ เพราะไอซอน จะทำงานทั้งหมดให้เพียงแค่กรอกความต้องการบางอย่างเข้าไปเท่านั้น

"ไอซอน ช่วยสร้างฐานลูกค้าใหม่ที่ตรงกลุ่ม และบรรลุเป้าหมายทางการตลาดได้ง่าย เพิ่มประสิทธิภาพทางการตลาดด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าวิธีเดิม ทำให้ผู้ประกอบการสร้างแคมเปญให้ลูกค้าแต่ละราย และอัดโปรโมชั่นได้ตรงถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ (Micro segmentation)" ธนชาติ กล่าว