'โอกาส'ซ่อนตัวใน(วิกฤติ)โควิด ที่กดเจลแอลกอฮอล์ -หน้ากากผ้า

 'โอกาส'ซ่อนตัวใน(วิกฤติ)โควิด   ที่กดเจลแอลกอฮอล์ -หน้ากากผ้า

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 สร้างความบอบช้ำเสียหาย โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจ เล็ก กลาง ใหญ่ ทุกคนต่างปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทว่าในวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ เหมือนกับแบรนด์ “มีเทอร์” และ “โซดาแมส” ที่สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสจากความปกติใหม่

วนิดา เครือวงค์ ทายาทธุรกิจร้านตัดพับเหล็กโลหะ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “มีเทอร์” เล่าว่า จากพื้นฐานที่บ้านทำธุรกิจร้านตัดพับเหล็กโลหะอยู่แล้ว จึงมีประสบการณ์ในการดูแลร้าน ทุกหน้าที่ตั้งแต่ผลิตไปยังขาย เก็บเงิน วางบิล เรียนจบคณะศึกษาศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษจาก มหาวิทยาลัยบูรพา ชีวิตพลิกผันจากเดิมที่คิดว่าจะไปสมัครเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ต้องเข้ามาช่วยคุณพ่อดูแลธุรกิจครอบครัว เนื่องจากคุณแม่ไม่สบาย พ่อขาดผู้ช่วยคนสำคัญ จึงเป็นหน้าที่ของวินิดา ในฐานะลูกสาวคนโต

หลังจากได้เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวจึงมองเห็นว่ามีหลายอย่างที่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ด้วยการต่อยอดจากพื้นฐานที่มีอยู่ด้วยการสร้างแบรนด์ “มีเทอร์”( Metre) สร้างต้องการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นลอฟท์ขึ้นมาปลายปีที่ผ่านมา เริ่มจากโต๊ะ เก้าอี้ ที่มีดีไซน์โมเดิร์นลอฟท์ มีลูกค้าที่เข้ามาในร้าน ในเพจให้ความสนใจแต่ยังไม่ซื้อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี คนส่วนใหญ่ชะลอการซื้อ

จนกระทั่งเกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 วนิดา เกิดไอเดียในการดีไซน์เครื่องกดเจล แอลกอฮอล์แบบเหยียบขึ้นมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากวัสดุที่ทำเป็นสแตนเลส มีราคาสูง ตกอันละ1,700-1,800 บาทรวมทั้งดีไซส์ยังไม่โดดใจทำให้ไม่ได้รับการตอบรับ จึงกลับมาทำการบ้านใหม่ โดยการเปลี่ยนวัสดุเป็นเหล็ก พ่นสีดำสไตล์โมเดิร์นลอฟท์ในราคา990 บาท ออกมานำเสนอผ่านทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเกินความคาดหมาย ภายในเวลาไม่ถึง24 ชั่วโมงสินค้าลอตแรกจำนวน 18 ตัวขายหมด

“ เราได้เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก จากเดิมคิดว่าถ้าใช้วัสดุที่คงทนอย่าง สแตนเลส ส่วนใหญ่นิยมใช้ในโรงพยาบาลจะได้รับการตอบที่ดีแต่ลืมไปว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคทุกวันนี้ลดลง แม้วัสดุจะดีแต่ถ้าราคาจับต้องยากโอกาสขายได้ยาก ”

หลังจากนั้นได้รับความสนใจจากร้านค้าเสื้อผ้า สักคิ้ว คลินิก ร้านขายยา ร้านคาเฟ่ ร้านกาแฟ บริษัท โรงงาน รวมทั้งการซื้อไปเพื่อบริจาคตามโรงพยาบาล วัดเป็นจำนวนมาก เพียงระยะเวลาแค่ 13 วันขายไปได้ถึง200 ตัว

“ต้องยอมรับว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้แบรนด์สินค้าเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้รับความสนใจจากลูกค้าหลายหลายพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือยังภาคใต้ ผ่านทางช่องทางออนไลน์”

วนิดา กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนมีโอกาสทำธุรกิจได้ง่ายขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆแม้จะเกิดวิกฤติเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยทำให้การทำธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เพียงแต่ต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้และยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เกิดขึ้นมาหลังจากวิกฤติ เชื่อว่า ในวิกฤติมีโอกาสเสมอ ส่วนแนวทางการทำแบรนด์ “มีเทอร์” ต่อจากนี้ไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาต่อยอดเครื่องกดเจล แอลกอฮอล์แบบเหยียบให้มีสีสันมากขึ้นตามที่ลูกค้าให้คำแนะนำมา รวมถึงขยายไปสู่โรงพยาบาล ด้วยการพัฒนาในรูปแบบ สแตนเลส ที่มีดีไซน์ทันสมัยจากเดิมแบบสแตนเลสแบบกลมจะเป็นแบบเหลี่ยมแทน รวมทั้งการนำเสนอเฟอร์นิเจอร์ที่เข้าอยู่ในบ้าน ที่ทำงาน ร้านอาหาร ฯลฯที่สามารถเข้ามาตอบโจทย์ทั้งเรื่องฟังก์ชั่นและความสวยงามแบบเรียบง่าย

ธวัชชัย สหัสสพาศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซดาพริ้นติ้ง จำกัด กล่าวว่า จากแนวโน้มความต้องการใช้หน้ากากอนามัยจากปัญหาฝุ่นPM2.5จนมาถึงวิกฤติโควิด-19 ทำให้หน้ากากกลายเป็นปัจจัยที่ห้าในการดำชีวิตของทุกคนต่อไป ประกอบกับการที่บริษัทต้องรักษาเสถียรภาพธุรกิจให้เดินต่อไปได้ จึงปรับตัวด้วยการเปิดธุรกิจหน้ากาก ที่ไม่แมส โดยใช้ความเข้าใจที่มีต่อวัยรุ่น ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักเดิมของ โซดาพริ้นติ้ง ที่มีเครื่องจักรในการทำลวดลายผ้ามาต่อยอดในด้านการออกแบบ“โซดาแมส” (SOdAmask)

โดยการผลิตหน้ากากผ้า ที่ทำหน้าที่มากกว่าการ ‘ป้องกัน’ ให้กลายเป็นสินค้า ‘แฟชั่น’ ในยุคโควิดรายแรกๆ ของประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกลยุทธ์เจาะตลาดออนไลน์แบบครบวงจร จนกลายเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแมสผ้าแฟชั่นอันดับต้นๆ สำหรับกลุ่มวัยรุ่น

“โชคดีว่าธุรกิจแขนงหนึ่งของเราเป็นพริ้นติ้ง แค่ปรับเปลี่ยนวัสดุและรูปแบบ หันมาผลิตแมสแทน พนักงานก็มาช่วยกันทำ หน้ากากผ้าป้อนตลาด ซึ่งมีความต้องการสูงมากในช่วงนี้”

ธวัชชัย เล่าว่า ก่อนจะลงมือพัฒนาสินค้าต้องศึกษาปัญหา (Pain Point)ของกลุ่มเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นฮีโร่ ด้วยการลิสต์เป็นข้อๆ ยกตัวอย่าง วัยรุ่นไม่นิยมใส่หน้ากากเพราะไม่สวย จึงออกแบบหน้ากากให้วัยรุ่นรู้สึกเท่ อยากใส่ ใส่แล้วหน้าเรียว ไม่ติดเครื่องสำอาง หายใจสะดวก จึงมีทีมกราฟฟิกเพื่อออกแบบลายสวยๆ ตามเทรนด์แฟชั่น เพื่อให้แมทช์กับการแต่งตัวของวัยรุ่น

นอกจากนี้ ยังรับผลิตเพื่อสร้างแบรนด์ให้กลุ่มลูกค้า หน่วยงาน บริษัทด้วยดิจิทัล พริ้น สำหรับบริษัทแจกลูกค้าและผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง สำหรับการรับผลิต พร้อมทั้งช่วยออกแบบให้ โดยกำลังการผลิตในการเย็บ ช่วงแรกผลิตได้สัปดาห์ละ 2,000 ชิ้น ทุกวันนี้ขยายกำลังผลิตในการเย็บได้สัปดาห์ละ 30,000 ชิ้น แต่ยังมีศักยภาพในการพิมพ์ได้วันละถึง 15,000 ชิ้นต่อวัน

ส่วนช่องทางการขายปลีก ทางบริษัทใช้ซเลบริตี้ผู้มีชื่อเสียงทางสังคม (Key Opinion Leader:KOL) มาเป็นพันธมิตรช่วยโปรโมทสินค้าในช่วงโควิด โดยใช้ช่องทาง Tiktok ,Instagram โปรโมท ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ใน Tiktok มียอดวิว 474,000 วิวและดึงกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานพาสไทม์ในที่ต่างๆ มาเป็นตัวแทนในการขาย เป็นตัวแทนแบบไม่มีสต๊อก โดยเราเป็นคนดูแลระบบหลังบ้านการจัดส่งให้ทั้งหมด ทำให้สินค้าเข้าถึงคนได้ในวงกว้าง ในราคาที่จับต้องได้

"เราใส่ใจในทุกรายละเอียด ในการออกแบบทุกจุดสัมผัสบริการ (Touch Point) ของลูกค้า เช่น ซองพัสดุสำหรับส่งลูกค้าเพราะ อยากให้ลูกค้าทุกท่านรู้สึกว่าได้รับของขวัญตั้งแต่ยังไม่ได้แกะซอง ถึงต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเพราะรอยยิ้มของลูกค้าคือความสุขของเรา"