อีก 1 ปีครึ่ง เร็วสุดได้ใช้ 'วัคซีนโควิด-19ไทยทำ'

อีก 1 ปีครึ่ง เร็วสุดได้ใช้ 'วัคซีนโควิด-19ไทยทำ'

เผย “วัคซีนโควิด-19ไทยทำ” เร็วสุดผลิตใช้ได้เองปลายปี64 หลังล่าสุดจุฬาฯฉีดทดลองในลิง หากสำเร็จคาดขยายผลเริ่มวิจัยในคนช่วงปลายปี 63 ราว 5,000 คน ขณะที่นานาชาติวิจัยในคนแล้ว 10 ชนิด ระดับสัตว์ทดลองอีก 114 ชนิด ส่วนภาคเอกชนเชื่อไทยมีศัยภาพพร้อมผลิตวัคซีน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยก่อนหน้านี้ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่มาแล้ว 3 วัน คือเมื่อวันที่ 13,16 และ 22 พฤษภาคม 2563

ภาพรวมประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,040 ราย รักษาหายแล้ว 2,921 ราย ยังรักษาในรพ. 63 ราย เสียชีวิตสะสม 56 ราย ซึ่งเมื่อจำแนกผู้ป่วยสะสมตามพื้นที่การรักษาพบว่า กรุงเทพฯและนนทบุรี 1,708 ราย ภาคใต้ 730 ราย ภาคกลาง 396 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย และภาคเหนือ 95 ราย เพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุเฉลี่ย 39 ปี หรือเป็นคนในวัยทำงาน

จึงขอเน้นย้ำในกลุ่มคนวัยทำงานที่จะต้องป้องกันและดูแลตนเอง เพื่อไม่ให้เป็นคนนำเชื้อกลับเข้าบ้านมาติดคนในบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะรุนแรงกว่าคนวัยทำงาน

159030545838
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ประสานจัดการให้มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19เกิดขึ้นในประเทศ โดยมีหน่วยงานต่างๆริเริ่มพัฒนาวัคซีนต้นแบบขึ้น 6 ส่วน ได้แก่ 1.จุฬาลงกรณ์ ไบโอเนท เอเชีย และ สวทช. 2.จุฬาลงกรณ์ และ สวทช. 3.มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์ และ สวทช. 4.มหาวิทยาลัยมหิดล(ศิริราช) และ สวทช. 5.มหาวิทยาลัยมหิดล และ 6.สวทช. ทั้งหมดที่กำลังพัฒนาอยู่ในทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19ทั่วโลก

ขณะนี้มีส่วนที่มีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนา 2 ตัว โดยได้วัคซีนต้นแบบเริ่มทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว คือ ดีเอ็นเอวัคซีน และเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาวัคซีนที่ทันสมัยและรวดเร็ว ในส่วนของดีเอ็นเอวัคซีน บริษัทไบโอเนท-เอเชีย ได้เริ่มทำการทดลองในสัตว์ทดลองคือในหนูแล้ว และเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯได้ผ่านการทดลองในหนู และเริ่มทดลองในลิงแล้ว

อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ผ่านการทดสอบจะต้องมีขั้นตอน โดยต้องผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองให้ได้ผลเป็นที่พอใจ ผ่านเงื่อนไขทั้งในแง่ความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สัตว์ทดลองถึงจะนำมาเริ่มทดสอบในคน

การทดสอบในคนจะมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย ทดสอบในอาสาสมัคร 30-50 คน ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทดสอบในอาสาสมัคร250-500 คน และระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกันโรค ทดสอบในอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน

ในระดับนานาชาติเริ่มมีการทดลองในคน ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีทั้งหมด 10 ชนิด แยกเป็นในประเทศจีน 5 ชนิด สหรัฐอเมริกา 2 ชนิด อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลีย ประเทศละ 1 ชนิด ขณะเดียวกันมีวัคซีนในสัตว์ทดลองอีก 114 ชนิด ซึ่งรวมของประเทศไทยด้วย จะเห็นได้ว่าการทำงานของประเทศไทยแม้จะเป็นไปได้ช้ากว่าประเทศแนวหน้า แต่ไม่ได้อยู่แถวหลัง อยู่ในกลุ่มที่จะต้องวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้สร้างพันธมิตรกับนานาชาติในการร่วมมือวิจัยพัฒนาวัคซีน โดยหวังว่าถ้าวัคซีนชนิดไหนพัฒนาแล้วสามารถใช้ป้องกันโรคได้ ก็จะขอร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีนใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่น เช่น ได้มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศจีน ที่ประเทศไทยจะร่วมในการวิจัยและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตวัคซีน เป็นต้น

“การวิจัยนั้น ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็จะบอกระยะเวลาได้คร่าว ๆ แต่งานวิจัยมีโอกาสเสมอที่จะเกิดผลไม่เป็นที่น่าพอใจและต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น เพราะฉะนั้น หากประเทศในกลุ่มแถวหน้าของการวิจัยพัฒนาดำเนินการได้สำเร็จเป็นที่น่าพอใจตามแผนทุกขั้นตอน ไม่มีข้อติดขัด วางกรอบไว้อีก 12-18 เดือนข้างหน้าจะมีวัคซีนโควิด-19 แต่ถ้ามีการสะดุดติดขัดตรงไหนก็ต้องปรับรูปแบบวัคซีนใหม่ก็ใช้เวลามากขึ้น

ในส่วนของประเทศไทยวัคซีนที่พัฒนาวิจัยขึ้นเองนั้น ถ้าเป็นไปตามแผนน่าจะเริ่มทดสอบวัคซีนในคนปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 และถ้าเป็นตามแผนจะมีวัคซีนใช้ในปลายปี 2564” นพ.นคร กล่าว

159030547934

  

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนี้ผ่านการทดลองในหนูและอยู่ในขั้นทดลองในลิง ซึ่งปกติวัคซีนเมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงในช่วง 4-6 สัปดาห์ คาดว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะสามารถตรวจเลือดลิงเพื่อดูผลการทดลอง แต่หากผลเลือดยังมีภูมิคุ้มกันต่ำก็จะตรวจเลือดในช่วงเดือนกรกฎาคม

ขณะเดียวกันได้มีการดำเนินการคู่ขนานในการจองโรงงานขนาดเล็กในต่างประเทศ เพื่อผลิตวัคซีนเนื่องจากเอ็มอาร์เอ็นเอเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ทั่วโลกน่าจะมีโรงงานประมาณ 7 แห่ง โดยไทยจะผลิตเริ่มต้นประมาณ 1 หมื่นโด๊สเพื่อใช้ในการทดลองในคนที่เป็นอาสาสมัคร

หากผลการทดลองในลิงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะฉีดให้คนละ 2 เข็ม ก็จะใช้อาสาสมัคร 5,000 คน แบ่งเป็นการทดลองในคน 3 ระยะ คาดว่าจะเริ่มในช่วงปลายปี 2563 รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมโรงงานในประเทศไทยที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย อย่างบริษัทไบโอเนท-เอเชีย ก็มีความพร้อมที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

“อย่าเสนอว่าประเทศไทยมีวัคซีนแล้วในสิ้นปีนี้ เพราะต้องทดสอบดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อน เชื่อว่าหากแต่ละขั้นตอนของการวิจัยผ่านไปได้ด้วยดีเป็นไปตามแผน ประเทศไทยน่าจะมีความพร้อมในการผลิตวัคซีนในอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง เพราะต้องทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อน ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผน ปลายปี 2564 น่าจะผลิตวัคซีนโควิด-19เพื่อคนไทยหลายล้านคนได้” ศ.นพ.เกียรติกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการวางแผนระยะยาวที่จะสร้างอาคารวิจัยป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า อาคารหรือยูนิตนี้จะเป็นอาคารเอบีเอสแอล 3 คือเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไม่ให้ออกจากอาคารในระดับ 3 ที่ป้องกันได้อย่างดี โดยจะใช้ในการทดสอบว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้จริงหลังมีการได้รับเชื้อ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนทดสอบหลังจากที่ฉีดวัคซีนในลิงแล้วทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นสูงแล้ว

ทั้งนี้ ทราบว่า รัฐบาลเตรียมงบประมาณที่จะพิจารณาตั้งเป็นยูนิตฉุกเฉินติดตั้งได้ภายใน 3 เดือน เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันเร่งระบบนี้ และในระยะยาวจะช่วยในการศึกษาวิจัยวัคซีนอื่นๆ ทำได้เร็วมากขึ้น เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการสร้างมูลค่าวัคซีนของประเทศไทย

  

159030549744

  

นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ไบโอเนท ได้สนใจเรื่องการพัฒนาวิจัยดีเอ็นเอวัคซีน ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 กระทั่งถึงเดือนพฤษภาคม สามารถเริ่มฉีดในหนูทดลอง ใช้เวลาประมาณ 50 วันในการพัฒนาวัคซีนต้นแบบจนถึงการฉีดในสัตว์ทดลอง แสดงว่ามีความพร้อมที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อได้ผลการทดลองในหนูแล้ว ก็จะทำการทดลองในสัตว์ที่ใหญ่ขึ้น คือ ลิง ก่อนจะนำมาทดลองในคนต่อไป

“ไม่ได้อยากให้ความหวังประเทศไทยมาก เพราะไม่ได้แปลว่าจะผลิตวัคซีนได้ตอนนี้ แต่ตอนนี้เป็นการพบวิธีผลิตวัคซีน และมีความพร้อมในการที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีน ใช้เองในประเทศได้ ทั้งชนิดดีเอ็นเอวัคซีนและเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน สามารถผลิตได้จำนวนหลายล้านๆ รวมถึงการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพพอในการผลิตใช้เอง

แต่ก่อนที่จะนึกถึงขั้นการผลิตนั้น จะต้องคิดถึงก่อนว่าจะผลิตวัคซีนตัวไหนดีที่สุดที่จะใช้กับประเทศไทย ซึ่งวัคซีนที่จะผลิตนั้นต้องมีความปลอดภัยเพียงพอที่จะนำมาใช้ โดยต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอนว่ามีความปลอดภัยที่จะใช้ในประชาชนกรไทยได้ ไม่ห่วงในเรื่องการผลิต แต่ห่วงว่าวัคซีนตัวไหนดีที่สุดใช้กับคนไทยมากกว่า” นายวิฑูรย์กล่าว