เรียกคืนขยะ สู่ "เศรษฐกิจหมุนเวียน" (circular economy) I Green Pulse

เรียกคืนขยะ สู่ "เศรษฐกิจหมุนเวียน" (circular economy) I Green Pulse

จากสถานการณ์วิกฤต COVID-19 ที่กำลังส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ โดยเฉพาะพลาสติกในประเทศไทย เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) และภาคีต่าง ๆ รวมทั้งผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชั้นนำของประเทศอย่าง GC และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างครบวงจร จึงริเริ่มโครงการ "ส่งพลาสติกกลับบ้าน" ขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา ผ่านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การ "แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา" และให้ความรู้การคัดแยกขยะพลาสติกแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง

และในเดือนนี้ ทางเครือข่ายฯ เริ่มต้นนำร่องโครงการโดยติดตั้งจุดรับพลาสติก (drop point) จำนวน 10 จุดในถนนสุขุมวิท เป็นเวลา 2 เดือน ได้แก่ Emporium, EmQuartier, Singha Complex, Bambini Villa, Broccoli Revolution, A Square, The Commons, Tesco Lotus สุขุมวิท 51, CP Fresh Mart, และ Veggiology

ทั้งนี้ จุดรับฯ จะรับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็งที่ทำความสะอาดเรียบร้อยจากประชาชนทั่วไป และจะมีแอพพลิเคชั่น ECOLIFE ให้เก็บแต้มสะสมแลกของสมนาคุณต่าง ๆ

โครงการฯ มีผู้สนับสนุนระบบ logistics, ผู้ดำเนินธุรกิจ recycle/upcycle, และ brand owners ที่มีนโยบายเรื่องการเรียกคืนขยะพลาสติกที่ชัดเจน รวมทั้งผู้สนับสนุนด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และมีนักวิชาการมาร่วมออกแบบการเก็บข้อมูลวิจัยถอดบทเรียน เพื่อการต่อยอดขยายผล รวม 24 องค์กร ถือเป็นความร่วมมือของภาคีเครือข่ายตลอดห่วงโซ่คุณค่าพลาสติก เพื่อ close loop นำพลาสติกจากผู้บริโภคส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการให้สามารถแปรรูปกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในที่สุด

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถึงเวลาที่ต้องหาวิธีทำให้เป็น full circular economy

“ด้วยแนวทางการทำงานในวันนี้ เราสามารถที่จะแปรรูปพลาสติกที่เราไม่ใช้แล้วได้ ตอนนี้เรามีความคิดว่าเราส่งพลาสติกกลับบ้าน แล้วเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นบุญ เช่น ทาง GC นำพลาสติกมา upcycle มาเป็นเสื้อยืด ของเล่น วัสดุต่าง ๆ รวมไปถึงจีวรพระ ซึ่งเทคโนโลยีสามารถทำให้เต็ม loop ได้
“ดังนั้น ต้องตัดคำว่า สะดวก สบาย ถ้าเราเอาคำนี้ออกไปได้ ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง ล้นประเทศจะลดลง และส่งพลาสติกไปในที่ที่พลาสติกจะไป ไม่ว่าจะกลับบ้านหรือเปลี่ยนอะไรก็แล้วแต่” นายวราวุธกล่าว

159029583892

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่า ขยะ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวันในช่วงล๊อคดาวน์

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่หรือ recycle ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ไม่ถูก recycle ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขยะขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ซึ่งนับเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจะทำให้ "เศรษฐกิจหมุนเวียน" เกิดได้จริง ต้องอาศัยการจับมือของหลายองค์กรและบริษัทตลอดห่วงโซ่พลาสติก และที่สำคัญคือ การมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการคัดแยกพลาสติกที่ต้นทางและการสนับสนุนผลักดันของภาครัฐ

“24 องค์กร จับมือกัน เพื่อนำพลาสติกใช้แล้วจากผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการ recycle แปรรูปเพื่อส่งกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง หรือเรียกว่า ปิด loop" นางพิมพรรณกล่าว

เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รื่นวดี สุวรรณมงคล หนึ่งในองค์กรที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า โครงการเป็นการจัดการปัญหาพลาสติกที่ตรงจุดและทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy และเชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

"ก.ล.ต. ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนผนวก ESG เข้ากับการทำธุรกิจของตนเองเพื่อความยั่งยืน และให้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวกับ ESG สนับสนุนให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ ออกคู่มือและแนวทางปฏิบัติที่ดี ตลอดจนจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อส่งเสริมการดำเนินการให้บรรลุผล” นางสาวรื่นวดีกล่าว

นายคงกระพัน อิทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ร่วมริเริ่มโครงการ กล่าวว่า GC เชื่อมั่นในเรื่องความยั่งยืน และนำมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดย GC มีทางออกให้กับทุกคนคือ Bioplastics การรีไซเคิล/อัพไซเคิล การสร้าง ecosystem ร่วมกับภาครัฐและเอกชนและโมเดลนำร่อง และการแชร์องค์ความรู้และสนับสนุนให้เกิดการขยายผล

นายประสิทธิ์ บุญดวงประสิทธิ์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติก เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมานาน และกำลังส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศของโลก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม พลาสติกก็มีประโยชน์ แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีอย่างเป็นระบบภายใต้แนวคิด circular economy เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ซีพีเอฟเข้าโครงการด้วย นายประสิทธิ์กล่าว

159029588853