ปัจจัยที่ผลักให้ 'สหรัฐ' เข้าสู่และอยู่ใน 'มุมมืด'

ปัจจัยที่ผลักให้ 'สหรัฐ' เข้าสู่และอยู่ใน 'มุมมืด'

ในช่วงนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ทำทุกอย่างเพื่อปูทางสู่การการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. วิธีของเขากำลังสุมไฟให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจอันเกิดจากไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไฟที่อาจช่วยโหมให้ความแตกแยกร้ายแรงถึงขั้นปะทะกันเฉกเช่นเมื่อปี 2511

ในบรรดาการเลือกตั้งประธานาธิบดี 15 ครั้งของสหรัฐ ที่ผมมีโอกาสได้ดูอยู่ภายในประเทศของเขา บรรยากาศที่นำเข้าสู่การเลือกตั้งในตอนปลายปีนี้ดูจะตึงเครียดไม่ต่ำกว่าเมื่อปี 2511 ครั้งนั้นการลอบสังหารโรเบิร์ต เคนเนดี ในระหว่างการหาเสียงที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้บรรยากาศตึงเครียดสูงจนพร้อมจะระเบิดออกมาเป็นการฆ่ากัน

สงครามเวียดนามมักถูกมองว่าเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดการแตกแยกร้ายแรงในสังคมอเมริกันในช่วงนั้น แต่นั่นมองได้ว่าเป็นเพียงปัจจัยเฉพาะกาล ลึกลงไปกว่านั้น เป็นความไม่พอใจต่อความเป็นไปในสังคมอเมริกันของคนรุ่นหนุ่มสาว

ซึ่งมองว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขาเอา แต่มุ่งแสวงหาความก้าวหน้าทางวัตถุ เพื่อสนองการเสพที่เพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่ใส่ใจในด้านการพัฒนาจิตใจให้ประเสริฐขึ้น พวกเขารู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าและพากันออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านวิถีชีวิตของสังคมอเมริกันอย่างรุนแรง คนรุ่นหนุ่มสาวที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้นมักถูกเรียกรวมๆ กันว่า “ฮิปปี้

คนรุ่นหนุ่มสาวดังกล่าวพยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดพื้นฐานของสังคมอเมริกัน โดยการลดการเสพแบบทำลาย หรือแบบไม่มีที่สิ้นสุดลง พร้อมกับพัฒนาด้านจิตใจให้มีความเอื้ออารีต่อเพื่อนมนุษย์และใส่ใจต่อความเป็นไปในระบบนิเวศมากขึ้น การก่อตั้งองค์การรัฐบาลด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นผลจากการเคลื่อนไหวในยุคฮิปปี้

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวโดยทั้วไปค่อยๆ ลดลง เมื่อคนรุ่นนี้มีอายุมากขึ้นและกลับเข้าร่วมวิถีที่รุ่นพ่อแม่เดิน ยกเว้นส่วนน้อยที่ปลีกตัวออกไปค้นหาวิถีใหม่ ในแนวกึ่งกลางระหว่างการยึดวัตถุแบบสุดโต่งของสังคมอเมริกันโดยทั่วไป กับการละทิ้งแนวนั้นโดยสิ้นเชิง (คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา เล่าเรื่องราวของชาวอเมริกันที่ยึดทางกึ่งกลางนี้)

ในช่วงเวลากว่า 50 ปีหลังเริ่มเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มฮิปปี้ ประชากรของสหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 140 ล้านคน เป็นราว 330 ล้านคน ซึ่งต่างพยายามดำเนินชีวิตตามแนวคิดชนิดแสวงหาสารพัดวัตถุมาเสพเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุด แต่จำนวนมากทำเช่นนั้นไม่ได้ ส่งผลให้เกิดความคับแค้นใจแบบไฟสุมขอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพราะผลผลิตที่ก่อให้เกิดการขยายตัวด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ไปตกอยู่ในมือของชนชั้นเศรษฐี ที่มีทั้งโอกาสและอำนาจทางเศรษฐกิจการเมือง ในการเลือกตั้งปี 2559 โดนัลด์ ทรัมป์มองเห็นภาวะไฟสุมขอนดังกล่าว จึงนำมาใช้จนส่งผลให้เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแม้เขาจะมีภูมิหลังที่ด่างพร้อยมากก็ตาม

ในช่วงนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ทำทุกอย่างเพื่อปูทางสู่การการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. วิธีของเขากำลังสุมไฟให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจอันเกิดจากไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไฟที่อาจช่วยโหมให้ความแตกแยกร้ายแรงถึงขั้นปะทะกันเฉกเช่นเมื่อปี 2511

หากนายทรัมป์ชนะ เขาจะฮึกเหิมเพิ่มขึ้นส่งผลให้นโยบายดีๆ ที่เริ่มตั้งแต่ครั้งฮิปปี้เคลื่อนไหวถูกทำลายต่อไปไม่ว่าจะเป็นด้านระบบนิเวศ หรือด้านการเอื้ออารีต่อเพื่อนมนุษย์

ในกรณีที่นายทรัมป์แพ้ ประธานาธิบดีคนใหม่คงไม่ปล่อยให้นโยบายทำลายระบบนิเวศและความเอื้ออารีในแนวของนายทรัมป์ดำเนินต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าฐานของแนวนโยบายจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญถึงขั้นเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสังคม การกระตุ้น หรือเอื้อให้ชาวอเมริกันโดยทั่วไปแสวงหาสรรพสิ่งมาเสพเพิ่มขึ้นจากรุ่นสู่รุ่นแบบไม่มีที่สิ้นสุดจะยังคงอยู่

แม้ในขณะนี้จะมีการพูดกันอย่างกว้างขวางในวงการต่างๆ ก็ตามว่า หลังวิกฤติจากไวรัสโควิด-19 ยุติ พวกเขาจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิตไปสู่แนว “ปกติใหม่” (new normal) ทั้งนี้เพราะการปรับเปลี่ยนที่พูดถึงกันนั้นไม่มีการเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐาน หรือกระบวนทัศน์ของสังคมรวมอยู่ด้วย

ฉะนั้น โอกาสที่สหรัฐจะเดินออกจากมุมมืดอย่างยั่งยืนจึงแทบเป็นศูนย์ เนื่องจากสหรัฐเป็นมหาอำนาจ สหรัฐอาจจูงใจให้ชาวโลกส่วนใหญ่เดินเข้าสู่มุมมืดด้วยทั้งจากความจำใจและจากความสมัครใจ