โควิด-19 ตัวเร่ง 'มหาวิทยาลัย' ปรับตัวสู่ 'โลกออนไลน์'

โควิด-19 ตัวเร่ง 'มหาวิทยาลัย' ปรับตัวสู่ 'โลกออนไลน์'

ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 จะระบาดเป็นวงกว้าง หลายคนมองว่าเทคโนโลยีจะดิสรัปวงการการศึกษาไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย และคงจะอีกหลายปีกว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจน แต่เมื่อโควิด-19 กลับผลักดันให้เกิดดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ภาคบังคับ อย่างเช่นการะเรียนออนไลน์

วิกฤติครั้งนี้กำลังทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เรามักจะพูดกันเสมอว่ามหาวิทยาลัยจะถูกดิสรัปจากเทคโนโลยีดิจิทัล และยังพูดถึงประเด็นของนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อมีจำนวนลดลง

ซึ่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้เห็นตัวเลขของการรับนักศึกษาตามระบบทีแคส (TCAS : Thai University Center Admission System) ซึ่งระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยระบบใหม่ ทั้งสองรอบแล้วก่อนเกิดวิกฤติ โดยเริ่มมีความเป็นห่วงต่อจำนวนนักศึกษาที่สมัครและตอบรับลดลงอย่างมาก

ซึ่งโลกหลังยุคโควิดอาจเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้แล้ว โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ออฟฟิศที่ทำงานจะไม่เหมือนเดิม คนทำงานจะต้องมีทักษะและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป อาชีพบางอย่างอาจจะหายไป การเรียนการสัมมนาจะมุ่งสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบริการด้านดิจิทัลจะเติบโตขึ้น การใช้เทคโนโลยีเอไอจะแพร่หลายมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้จะยิ่งมีผลกระทบอย่างมากหากวิกฤติ โควิด-19 ลากยาวไปอีกหลายเดือน โดยเฉพาะถ้า Social Distancing ยังมีความสำคัญ คนยังต้องใช้ชีวิตออนไลน์ การเรียนการสอนยังอยู่ในแบบออนไลน์ ทุกคนก็จะมีความคุ้นเคยกับชีวิตออนไลน์และจะทำให้สุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อน โดยมีวิกฤติ โควิด-19 กำลังเป็นตัวเร่งทำให้มหาวิทยาลัยถูกดิสรัป เและเราอาจเห็นหลายๆ มหาวิทยาลัยหรือหลายสาขาจะต้องปิดตัวเร็วๆ นี้

ผู้เรียนที่ต้องเรียนออนไลน์ในมหาวิทยาลัยก็จะเริ่มมีคำถามว่า ทำไมต้องมาเรียนออนไลน์กับมหาวิทยาลัยนี้ ในเมื่อโลกออนไลน์สามารถเรียนที่ใดก็ได้ หลักสูตรใดก็ได้ หรือเรียนกับผู้สอนคนไหนก็ได้ ผู้เรียนย่อมเลือกเรียนในสถาบันซึ่งสอนออนไลน์ได้ดีที่สุด และอาจเรียนหลายๆ หลักสูตรพร้อมกัน โดยไม่จำเป็นต้องจบจากมหาวิทยาลัยแห่งเดียว

การที่ผู้ประกอบการมีความต้องการคนทำงานที่มีทักษะจริงมีความรู้จริง ผู้เรียนก็ยิ่งต้องขวนขวายหาความรู้อย่างจริงจัง อาจต้องการประกาศนียบัตร (Certification) จากสถาบันชั้นนำมากกว่าการเรียนเพื่อเก็บเกรดแบบเดิมๆ

สาขาที่จะอยู่รอดได้ คือมีความต้องการสูง หรือสาขาที่สามารถรองรับการทำงานในอาชีพใหม่ๆ หลังยุคโควิดได้ รวมถึงสาขาที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้เนื่องจากมีวิชาปฏิบัติ เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือด้านการแพทย์และสาธารณสุข

ส่วนสาขาที่สามารถสอนออนไลน์ได้จะมีการแข่งขันสูง มหาวิทยาลัยจะแข่งขันแบบไร้พรมแดน ต้องสู้กับหลักสูตรออนไลน์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาทั่วโลก มหาวิทยาลัยใดมีรูปแบบการสอนออนไลน์ได้ดีกว่า มีชื่อเสียงที่ดีกว่า มีผู้สอนที่มีความโดดเด่นย่อมจะได้เปรียบ

รายได้ของมหาวิทยาลัยก็จะน้อยลง เนื่องจากหลายหลักสูตรจะเป็นการสอนออนไลน์ ไม่สามารถจะเก็บค่าธรรมเนียมเท่าเดิมได้ รูปแบบการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยจะไม่เป็นเช่นเดิม บุคลากรสายสนับสนุนจำนวนมาก ก็อาจมีภาระงานที่น้อยลงและต้องการทักษะดิจิทัลมากขึ้น อาจารย์ที่อยู่ในสาขาที่ต้องสอนออนไลน์ หากไม่สามารถพัฒนารูปแบบการสอนหรือเพิ่มความรู้ใหม่ๆได้ก็อาจประสบปัญหาในการสอน

ดังนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ต้องทำองค์กรให้เล็กลงมีความคล่องตัว ปรับกฎระเบียบ ต้องคิดทุกอย่างโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการเรียนการสอนเป็นลำดับแรก (Digital First) เว้นแต่ไม่สามารถใช้ดิจิทัลได้จริง จึงค่อยกลับสู่การสอนในรูปแบบเดิม

ใช่ครับ วันนี้ไม่ใช่วันแห่งการรอคอยว่าเมื่อไรรูปแบบเดิมจะกลับมา เพราะจะมีอีกแล้ว วันนี้คือวันแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ทุกฝ่ายไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้