หน้าแรก / ธุรกิจ
อังคาร 19 มกราคม 2564
ไทยลุย! เดินหน้าทดสอบ "วัคซีนโควิด-19" เข็มแรกในลิง

23 พฤษภาคม 2563
1,194
“สุวิทย์” ลงพื้นที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าทดสอบวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในลิง โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” เผยรอฉีดเข็มที่ 2 อีก 4 สัปดาห์ ก่อนทดสอบใน “คน” ส.ค.นี้ ชี้กระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 6-12 เดือน
วันนี้ (23 พ.ค.253) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าในการเตรียมการทดสอบวัคซีนโควิด-19 “ชนิด mRNA” ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และ กระทรวงสาธารณสุข หลังวิจัยและพัฒนาขึ้นพร้อมกับผ่านการทดสอบในหนูทดลองจนประสบความสำเร็จในระดับดี จึงก้าวสู่ลำดับต่อไปคือการทดสอบในลิง

ดร.สุวิทย์ กล่าวหลังตรวจเยี่ยมศูนย์วิจัยฯ และประชุมการดำเนินงานด้านวัคซีน ว่า การทดสอบในลิงจะฉีด 3 ครั้ง สำหรับวัคซีนที่ทดลองในลิง ใช้เทคโนโลยีใหม่ของการวิจัยวัคซีน คือ ใช้สารพันธุกรรมของเชื้อชนิด mRNA โดยครั้งที่ 1 ฉีดวันที่ 23 พ.ค.63 เวลา 7.39 น. ส่วนครั้งที่ 2 นับไปอีก 4 สัปดาห์ ครั้ง 3 นับไปอีก 8 สัปดาห์ โดยหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 คาดว่าจะทำให้เห็นผลการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีต่อโรคโควิด-19 โดยขั้นตอนการทดสอบในลิงถือเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับวัคซีนได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด ทั้งนี้จะต้องดูเรื่องความปลอดภัย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน และการตอบสนอง คือ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง ก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ ซึ่งคาดว่าอีก 3-6 เดือนจะสามารถเริ่มทดสอบได้ผ่านทางอาสาสมัคร ในปัจจุบันมีวัคซีนต้นแบบที่เข้าทดสอบในสัตว์ทดลองมากกว่า 150 ชนิด และอย่างน้อยมี 10 ชนิดที่เริ่มทำการทดสอบในอาสาสมัครแล้วประมาณ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และแคนาดา

คลิปข่าว
ทั้งนี้ กระบวนการทดสอบในมนุษย์มี 3 ระยะ โดยพิจารณาใน 4 ประเด็นได้แก่ ความเป็นพิษ ความปลอดภัยต่อร่างกาย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งหากข้อมูลการทดสอบในลิงเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนเพื่อทดสอบในคน ได้ในประมาณเดือน ส.ค.ปีนี้ สำหรับ เฟสที่ 1 ทดสอบในคนจะเริ่มจากหลักสิบ เพื่อดูว่าวัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ จากนั้น เฟสที่ 2 เพิ่มเป็นหลักร้อยคน เพื่อดูว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้จริงหรือไม่ และเฟสที่ 3 จะทดสอบในหลักหลายพันคน เพื่อดูว่าใช้ได้กับประชากรจำนวนมากผลจะเป็นเช่นไร

โดย วัคซีนชนิด "mRNA" ที่ประเทศไทยใช้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มีข้อดีคือสามารถพัฒนาได้เร็ว และใช้ได้ผลโดยการใช้ปริมาณวัคซีนที่ไม่มากนัก ขณะเดียวกันได้มีการเจรจาและสั่งจองการผลิตวัคซีนกับโรงงานผลิต ซึ่งยุทธศาสตร์วัคซีนโรคโควิดนี้ไม่เพียงแก้ปัญหาสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหาโรคระบาดในระดับมนุษยชาติ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายการพัฒนาวัคซีนของไทยคือให้คนไทยมีวัคซีนใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำทั่วโลก

ขณะเดียวกันการทดลองวัคซีนส่วนใหญ่ทั่วโลกอยู่ในขั้นตอนที่ไล่เลี่ยกันกับประเทศไทย คือ การทดสอบในสัตว์ทดลอง มีเพียง 6-7 แบบที่ทดลองในคนในระยะที่ 1-2 แล้ว เช่น ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้สิ่งที่เราดำเนินการยังใช้หลายวิธีการพร้อมๆกันผ่านยุทธศาสตร์ 3 แนวทางคู่ขนานคือ 1.การวิจัยและทดลองในประเทศไทย ให้สามารถสร้างวัคซีนใช้เองได้ลดการพึ่งพาต่างชาติ 2.การสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ 3.การเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีนที่ผ่านการทดลองและพิสูจน์ว่าใช้ได้ผล เพื่อให้คนไทยได้ใช้อย่างทั่วถึงในเวลาเดียวกันกับประเทศชั้นนำอื่นๆ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะพร้อมภายในระยะเวลา 6-12 เดือน

“ที่สำคัญขณะนี้ ศูนย์ไพรเมทฯ วางแผนในระยะยาวคือการสร้างอาคารวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อทางอากาศ ซึ่งจะทำให้การวิจัยพัฒนาและการทดสอบวัคซีนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ครอบคลุมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เหมือนอย่างในกรณีโรคโควิด-19” สุวิทย์ กล่าว
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
‘เราชนะ’ วันนี้ลุ้น! ครม. อนุมัติหลักเกณฑ์จ่าย 'เงินเยียวยา' 31 ล้านคน
'เราชนะ' รับเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน กดเป็นเงินสดไม่ได้!
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!