'ขนส่งสาธารณะ' กระอักพิษโควิด 'แท็กซี่' เจ็บหนักสุด

'ขนส่งสาธารณะ' กระอักพิษโควิด 'แท็กซี่' เจ็บหนักสุด

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ชี้วิกฤติโควิด-19 กระทบผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ เนื่องจากความต้องการเดินทางของประชาชนลดลงมากกว่า 70% และผู้ประกอบการรถแท็กซี่จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เผยแพร่รายงาน เรื่อง "New Normal...ความท้าทายใหม่ของธุรกิจขนส่งสาธารณะ แท็กซี่...รับผลกระทบหนักสุด!" โดยระบุว่า การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาวะฉุกเฉิน เพื่อจำกัดการเดินทางของคนทั่วประเทศ ซึ่งทำให้ความต้องการเดินทางของประชาชนลดลงมากกว่า 70% จึงส่งผลกระทบเชิงลบโดยตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ

แม้ว่ารัฐบาลจะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และทยอยเปิดกิจการต่างๆ ให้กลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ แต่มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จะยังคงอยู่ต่อไปซักระยะหนึ่ง และทำให้ประชาชนต้องปรับตัวเข้าสู่ New Normal ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาตรการ Social Distancing ทำให้ความสามารถในการบรรทุกผู้โดยสารลดลง 40-50% ในทุกเที่ยวเดินทาง ก่อให้เกิดปัญหาผู้โดยสารตกค้างในช่วงเวลาเร่งด่วน (07:00-09:00 น.) ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงร่วมมือกันใช้การทำงานเหลื่อมเวลา ซึ่งจะทำให้จำนวนผู้โดยสารในเวลาเร่งด่วนลดลง 30-35% และไปเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในช่วงเวลาอื่นแทน จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง และรถไฟฟ้าจำเป็นต้องเพิ่มเที่ยวเดินทางให้ถี่ขึ้นในช่วงเวลา Off Peak

นอกจากนี้ เมื่อผู้โดยสารรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เช่น การติดแผงกั้นคนขับ-ผู้โดยสาร พร้อมชุดกรองอากาศในรถแท็กซี่ มาตรการเหล่านี้ย่อมทำให้ต้นทุนประกอบการของธุรกิจขนส่งผู้โดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นจากแต่ก่อน สวนทางกับรายได้ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการรถแท็กซี่จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด โดยคาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการจะหดตัวประมาณ 50-55% ในปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหนึ่งในกลุ่มลูกค้าหลักของคนขับรถแท็กซี่ ประกอบกับผู้โดยสารที่นั่งรถแท็กซี่ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อมากกว่าผู้โดยสารรถประจำทาง จึงมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้รถส่วนตัวมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ส่วนรถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบเชิงลบน้อยกว่า โดยคาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการจะหดตัวประมาณ 30%-35% ในปีนี้ จึงทำให้ภาพรวม รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจะหดตัว 39%-44% ในปีนี้ เนื่องจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาวะฉุกเฉิน และมาตรการ Social Distancing

ในระยะยาว เมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการ Social Distancing ต่าง ๆ เช่น เปิดร้านอาหารแบบนั่งทานเป็นกลุ่ม เปิดโรงภาพยนตร์ เปิดฟิสเนส และกลับมาส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกครั้ง ความต้องการเดินทางจะพลิกกลับมาเป็นขยายตัวขึ้นจากเดิม เนื่องจากคนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายการอยู่บ้าน โหยหาไลฟ์สไตล์ที่เคยมี ต้องการพบปะเพื่อนฝูง ญาติมิตร และทำกิจกรรมทางสังคมที่ต้องพบปะผู้คน จึงทำให้ความต้องการเดินทางเพื่อการสันทนาการพลิกกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงแรก

อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะเวลาที่ถูกล็อกดาวน์ได้ทำให้พฤติกรรมผู้คนบางส่วนเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ New Normal ในระยะยาว เช่น สั่งอาหารมาทานที่บ้านมากขึ้น ดูหนังออนไลน์มากขึ้น ซื้อของออนไลน์มากขึ้น หรือแม้กระทั้ง เรียนออนไลน์มากขึ้น และทำงานที่บ้านมากขึ้นในบางอาชีพ เช่น กราฟิกดีไซด์ นักพัฒนาเวป นักเขียนคอนเทนต์

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์เข้าสู่ New Normal เหล่านี้จะทำให้ความต้องการเดินทางของคนในเมืองลดลงในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่ารายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลจะขยายตัวถึง 56%-67% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีนี้ แต่ก็ยังหดตัวลง 3%-10% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 อยู่ดี

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย