ฟื้นตัวเด่นด้วยกองทุน 'ดิจิทัลเฮลธ์'

ฟื้นตัวเด่นด้วยกองทุน 'ดิจิทัลเฮลธ์'

ด้วยแนวโน้มการเติบโตของ "สังคมผู้สูงอายุ" ทำให้ "กลุ่มการแพทย์" เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกคาดหมายว่าจะยังคงน่าจะสนใจในการลงทุนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะ "กลุ่มเทคโนโลยีการแพทย์" ที่จะเข้ามาตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนได้มากขึ้น

แม้ว่าในประเทศไทยจะมีหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่หากพูดถึงเทคโนโลยีการแพทย์แล้ว ดูเหมือนว่าโอกาสของการลงทุนจะกระจายอยู่ทั่วโลกและไม่เฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น ทำให้กองทุนอย่าง กองทุนเปิด แอสเซทพลัส อินโนเวทีฟ เฮลธ์แคร์ (ASP-IHEALTH) มีความน่าสนใจมากขึ้น และในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างน่าพอใจที่ 27% เทียบกับค่าเฉลี่ยในกลุ่มที่ 16-17%

ส่วนผลตอบแทนนับแต่ต้นปีที่ผ่านมา สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ 15% หลังจากที่ราคาหน่วยลงทุนลดลงไปอยู่แตะ 8.4 บาทต่อหน่วย ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา NAV ของกองอยู่ที่ 12.2488 บาทต่อหน่วย

โดยสรุปแล้ว ASP-IHEALTH จะเน้นลงทุนในกองทุนต่างประเทศซึ่งลงทุนในบริษัทด้านดิจิทัล เฮลธ์ หรือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพและเภสัชกรรมโดยตรง รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้อง โดยจะลงทุนในบริษัทเหล่านี้ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่ง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 147 ล้านบาท

ณ 30 ธ.ค. 2562 กองทุน ASP-IHEALTH ได้นำเงินไปลงทุนใน 3 กองทุนหลัก ได้แก่ กองทุน Digital Health Equity Fund ซึ่งบริหารโดย Credit Suisse ลงทุนในสัดส่วน 48.86% ของมูลค่า NAV โดยกองทุนนี้จะเน้นลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งผู้จัดการกองทุนเชื่อว่ามีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (Undervalue)  โดยหลักกองทุนนี้จะลงทุนในสหรัฐเป็นหลักในสัดส่วน 74.6% รองลงมา คือ จีนและญี่ปุ่น ในสัดส่วน 4.7% และ 4.4% บริษัทที่ลงทุนนั้น อาทิ Exact Sciences, NovoCure, M3 และ Dexcom

159015825749

ถัดมาคือ iShares Nasdaq Biootechnology ETF สัดส่วน 25.19% เป็นกองทุนภายใต้การบริหารงานของ Blackrock โดยเป็นกองทุนสไตล์แอคทีฟ มุ่งบริหารให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด ซึ่งจะเน้นลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มเภสัชศาสตร์ ที่จดทะเบียนในตลาด NASDAQ จะเน้นการลงทุนในธุรกิจไบโอเทคโนโลยีเป็นหลัก โดยบริษัทที่ลงทุนหลัก อาทิ Vertex Pharmaceuticals, Amgen, Gilead Sciences และ Regeneron Pharmaceuticals

สุดท้ายคือ กองทุน Biotechnology Fund สัดส่วน 22.61% เป็นกองทุนที่ลงทุนในบริษัทที่รวมอยู่ใน NASDAQ Biotechnology Index, บริษัทซึ่งพัฒนายาโมเลกุลขนาดเล็กหรือยาชีวภาพภายใต้การอนุมัติของหน่วยงานกำกับดูแลระดับโลก หรือบริษัทที่ช่วยในการวิจัยและพัฒนายาเหล่านี้  จะมีสัดส่วนการลงทุนหลักที่คล้ายคลึงกับ iShares Nasdaq Biootechnology ETF โดยมีหุ้นหลักในพอร์ตอย่าง Vertex Pharmaceuticals, Amgen, Gilead Sciences เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ASP-IHEALTH เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงในระดับหนึ่ง โดยกองทุนนี้จัดเป็นกองทุนเสี่ยงสูง ในระดับ 7 จาก 8 ระดับ ทำให้ผลการดำเนินงานมีโอกาสผันผวน 15-25%

ขณะที่การป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของค่าเงิน ปกติแล้วกองทุนจะป้องกันความเสี่ยงเกือบทั้งหมดในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าเงินลงทุนต่างประเทศ แต่ในภาวะไม่ปกติอาจพิจารณาป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมรวม สำหรับกองทุนนี้เรียกเก็บจริงอยู่ที่ 2.94% มูลค่าขั้นต่ำของการลงทุนอยู่ที่ 5,000 บาท ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ในรูปของ NAV เท่านั้น ซึ่งกองทุนนี้มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล

โดยภาพรวมแล้ว ASP-IHEALTH ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของขนาดกองที่ค่อนข้างเล็ก แต่ก็แลกมาด้วยความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนการลงทุนที่ทำได้ง่ายกว่า ส่วนอายุกองทุนเพิ่งจัดตั้งมาได้เพียง 1 ปีเศษ อาจทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจได้ว่าผลงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ตัวเลขผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ก็อาจจะพอการันตีได้ในระดับหนึ่ง