จับตา 'NPL' หรือ 'หนี้เสีย' จ่อทะลุ '1 ล้านล้าน' เครดิตบูโรชี้ 'Gen Z' น่าห่วง

จับตา 'NPL' หรือ 'หนี้เสีย' จ่อทะลุ '1 ล้านล้าน' เครดิตบูโรชี้ 'Gen Z' น่าห่วง

เครดิตบูโร เผย "แบงก์-นอนแบงก์" แห่ดูข้อมูลเครดิตลูกหนี้เก่าถี่ยิบ 4 เดือนแรกปีนี้ทะลุ 26 ล้านครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงปล่อยกู้ หลังโควิด-19 กระทบคุณภาพหนี้ คาด "NPL" ปีนี้จ่อแตะ 1 ล้านล้านบาท ชี้กลุ่ม “Gen Z” เริ่มน่าห่วง จำนวนบัญชีโตพรวด 200%

การแพร่ระบาดของโควิด-19  และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กระทบรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ภาคครัวเรือนแทบทุกกลุ่ม แม้สถาบันการเงินจะออกมาตรการช่วยลดภาระหนี้ แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ก็ยังมีสัญญาณปรับเพิ่มขึ้น 

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันการเงิน ทั้งแบงก์ นอนแบงก์ ที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร เข้มงวดและสกรีนลูกหนี้อย่างเข้ม สะท้อนจากการตรวจข้อมูลลูกค้าเก่าเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยมียอดดูข้อมูลลูกค้าเก่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ถึง 26 ล้านครั้ง ภาพรวมทั้งปีน่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 70 ล้านครั้ง จากปีก่อนเฉียด 55 ล้านครั้ง 

ทั้งนี้ การเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ สอดคล้องกับคุณภาพหนี้ที่ด้อยลงต่อเนื่อง ไตรมาส 1 ปีนี้  เอ็นพีแอลลูกหนี้รายย่อย ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 8.1% หรือมียอดคงค้าง 9.5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันหนี้ NPL ที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ (TDR) เพิ่มขึ้นที่ 8.3% หรือ 9.7 แสนล้านบาท จากระดับ 7.6% ในช่วงสิ้นปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูล NPL และหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับโครงสร้างหนี้  เป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นจากแนวโน้มคุณภาพหนี้ที่ด้อยลงต่อเนื่อง ปีนี้มีโอกาสเห็นเอ็นพีแอล และยอดหนี้ที่มีปัญหาและเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่สัดส่วนเอ็นพีแอลจะเร่งขึ้นสู่ตัวเลข 2 หลัก  โดยเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ใน 4 โปรดักท์สินเชื่อรายย่อย ซึ่งเอ็นพีแอลที่ 5.5%

หากดูคุณภาพหนี้แต่ละผลิตภัณฑ์เชิงลึก พบว่า เอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านปรับขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 4.9% จากระดับ 4.7%  ยอดปรับโครงสร้างหนี้อยู่ที่ 7.7% จาก 6.3% เมื่อสิ้นปีก่อน ดังนั้นสินเชื่อบ้านจึงน่ากังวลและต้องติดตามมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย จำนวนบัญชีที่เป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ระดับ 1.1 แสนบัญชี  จากระดับ 1แสนบัญชีในช่วงสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าเอ็นพีแอลอยู่ที่  1.4 แสนล้านบาท จากระดับ 1.3 แสนล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า

ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ NPL เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.2% จาก 5.9% การผ่อนชำระเริ่มติดขัด กลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุดคือกลุ่ม Gen Y ที่มีจำนวนบัญชี NPL สะสมขึ้นมาอยู่ที่กว่า 5 แสนบัญชี และ NPL คงค้างกว่า 1.6 แสนล้านบาท ส่วนบัตรเครดิต NPL ขึ้นมาที่ระดับ 15.2% แต่เชื่อว่าการลดผ่อนขั้นต่ำเหลือ 3% จะชะลอการเกิด NPL ได้ ด้านสินเชื่อบุคคลน่าเป็นห่วง ยอดปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บัญชี NPL เพิ่มขึ้นเกือบ 1.7 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

“อีกกลุ่มที่อยากส่งสัญญาณให้เห็นว่าน่าห่วงมากขึ้น คือกลุ่ม Gen Z อายุ 20-23 ปี เพราะเริ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  จำนวนบัญชีก้าวกระโดดขึ้นมา 3 เท่าตัว จากระดับ 8.7 หมื่นบัญชี ไตรมาสแรกปีก่อน เป็น 2.8 แสนบัญชีในไตรมาสแรกปีนี้  ผลจากการเข้าถึงดิจิทัลเลนดิ้ง ทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ขณะที่เอ็นพีแอลสูงถึง 10-12% และเริ่มเห็นการค้างชำระหนี้ราว 7-8%” 

“หนี้กลุ่ม Gen Z แม้ไม่มาก แต่เติบโตค่อนข้างมากเฉลี่ยเดือนละ 7% จากสิ้นปีก่อน และเติบโตมากกว่า 200% จากไตรมาสแรกปีก่อน เอ็นพีแอลเจนแซด  กระจุกตัวในสินเชื่อรถยนต์ เช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์ ดังนั้นควรระวังเป็นพิเศษ”

เขากล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทพิโกนาโนไฟแนนซ์ นอนแบงก์ เข้ามาขอเป็นสมาชิกเครดิตบูโรค่อนข้างมาก เช่น แกร็บ ไลน์ จะเข้ามาเป็นสมาชิกเต็มตัวในไตรมาส 2 ปีนี้ เพื่อรองรับการปล่อยกู้บนดิจิทัล