ส่งออก เม.ย.บวก 2 เดือนต่อเนื่อง สินค้าอาหารมาแรงช่วงโควิด

ส่งออก เม.ย.บวก 2 เดือนต่อเนื่อง  สินค้าอาหารมาแรงช่วงโควิด

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานการส่งออกเดือน เม.ย.2563 กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อการ ได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าอาหารที่ต้องการสูงขึ้นช่วงโควิด

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือน เม.ย.2562 มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 2.12% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งมูลค่าการส่งออกสูงกว่าเดือน เม.ย.ของทุกปี แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเมื่อหักมูลค่าสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและอาวุธยุทธปัจจัย การส่งออกเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ติดลบ 7.53 % 

รวมการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 81,620.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.19% แต่ถ้าหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยออกจะทำให้การส่งออกติดลบ 0.96%

ส่วนการนำเข้าเดือน เม.ย.2563 มีมูลค่า 16,485 ล้านดอลล่าร์ ลดลง 17.13% และรวมการนำเข้าในช่วง 4 เดือน แรกของปีนี้ มีการนำเข้ารวม 75,224 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.72% โดยเดือน เม.ย.2563 ไทยเกินดุลการค้า 2,462 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 4 เดือน แรกของปีนี้ เกินดุลการค้า 6,390 ล้านดอลลาร์

159015550468

สำหรับการส่งออกเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ขยายตัวเป็นผลมาจากการส่งออกทองคำในเดือนนี้ที่ขยายตัวสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จึงมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยขึ้น 

ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือ เม.ย.ขยายตัวที่ 4.03% ตามความต้องการสินค้าอาหารของตลาดโลกในช่วงล็อกดาวน์ โดยสินค้าอาหารสำคัญที่มีการส่งออกขยายตัว ประกอบด้วยข้าวกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน และขยายตัวในระดับสูง 23.10%รวมถึงอาหารทะเลแช่แข็ง ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหารยังขยายตัวดีในระดับที่น่าพอใจ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะอยู่ในแดนติดลบ เพราะการส่งออกยังไปได้ไม่สะดวกเนื่องจากติดระบบขนส่งที่ล่าช้า  จากการที่หลายประเทศยังมีการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด -19 แม้บางประเทศจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการแล้ว แต่ผลกระทบก็ยังมีอยู่ ซึ่งต้องดูสถานการณ์ในเดือนพ.ค.และมิ.ย.อีกครั้ง

“หากการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีที่เหลือ เฉลี่ยเดือนละ 20,500 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบ 0.5% แต่ถ้าเกิน 21,000 ล้านดอลลาร์ จะขยายตัว 0%" 

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกของไทยมาจากการที่หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ราคาน้ำมันอยู่ในระดับ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เงินบาทอ่อนค่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังดีต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาปัญหาสงครามการค้าจะกลับมาอีกหรือไม่ เนื่องจากในช่วงปลายปีจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งต้องดูท่าท่าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีต่อจีนด้วย

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเดือน เม.ย. พบว่ามูลค่าส่งออกขยายตัว 4.0% สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัวที่ 23.1% ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 5.7% ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 9.6% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 34.3% สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัว 18.9% 

สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว20.7 % น้ำตาลทราย หดตัว 8.3 % ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 6.7 %

สำหรับตลาดส่งออก พบว่า การส่งออกไปตลาดสำคัญหลายตลาดขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะตลาดจีนและญี่ปุ่น ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ และอาเซียน 5 ประเทศ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 

ตลาดสหรัฐขยายตัว 34.6% เป็นการขยายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งคืนยานพาหนะและอาวุธที่ใช้ในการซ้อมรบกลับ หากหักรายการนี้ออกไปการส่งออกไทยก็ยังขยายตัว 8.5 % สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ข้าว และหม้อแปลงไฟฟ้า

ส่วนตลาดจีน กลับมาขยายตัว 9 % เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับตลาดญี่ปุ่น กลับมาขยายตัว 9.8 % เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ และคาดว่าจะเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง 1–2 ปี ซึ่งนับเป็นโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรของไทย

แนวโน้มการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังเผชิญอุปสรรคสำคัญด้านการขนส่งบริเวณท่าเรือที่ยังแออัด และการขนส่งทางอากาศที่หยุดชะงัก ส่งผลให้สินค้ามูลค่าสูงที่ขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับได้รับผลกระทบด้วย คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังปัญหาการระบาดลดลง 

หลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว อาทิ จีน เยอรมนี อิตาลี และนิวซีแลนด์ ที่กำลังเริ่มต้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และในที่สุดจะทำให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าเหล่านี้กลับมาขยายตัว เป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์และส่วนประกอบที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังวิกฤติ