'การบินไทย' พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ 'วิษณุ' ตั้งทีมกฎหมายดูช่วงรอยต่อ

'การบินไทย' พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ 'วิษณุ' ตั้งทีมกฎหมายดูช่วงรอยต่อ

“คลัง” ขายหุ้นบินไทยให้วายุภักษ์ 3.17% พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจทันที ขายราคา 4 บาท มีส่วนลด 10-15% ทำรายการนอกตลาดหุ้น “คมนาคม” จ่อชง “วิษณุ” 4 รายชื่อ นั่งคณะทำงานเคลียร์ปมกฎหมายช่วงรอยต่อ

การฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่ขั้นตอนที่การบินไทยพ้นสภาพจากรัฐวิสาหกิจแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ขั้นตอนจำเป็นที่จะต้องเร่ง เพื่อให้ทันกับสภาพคล่องของการบินไทยที่กำลังมีปัญหา

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกองทุนวายุภักษ์ กล่าวว่า วานนี้ (22พ.ค.) กองทุนวายุภักษ์ได้เข้าซื้อหุ้นการบินไทยสัดส่วน 3.17% จากกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว โดยซื้อในราคาหุ้นละ 4 บาท ทำให้กระทรวงการคลังเหลือสัดส่วนหุ้นการบินไทยเพียง 48% ส่งผลให้การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยทันที

ทั้งนี้ ทางบริษัทการบินไทยจะต้องดำเนินการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นดังกล่าว เพื่อประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป

เตรียมยื่นศาลล้มละลาย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง คณะกรรมการกองทุนวายุภักษ์ และ ผู้บริหารบริษัทการบินไทย โดยมี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานวานนี้(22พ.ค.)

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป ทางการบินไทยจะต้องยื่นต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการและเป็นผู้บริหารแผน ซึ่งเข้าใจว่า จะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายเจ้าหนี้ได้เข้ายื่นเป็นผู้บริหารแผนก่อน ส่วนบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนนั้น ตามหลักกฎหมายล้มละลายกำหนดว่า จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับไลเซ่นการเป็นผู้บริหารแผนตามกฎหมาย ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะมีรายชื่อของบุคคลเหล่านี้

อย่างไรก็ดี ก็มีข้อยกเว้นว่า หากฝ่ายลูกหนี้ ซึ่งก็คือบริษัทการบินไทยต้องการเสนอบุคคลเข้าไปบริหารแผน กฎหมายกำหนดให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของลูกหนี้เท่านั้น ดังนั้น หากกระทรวงคมนาคมหรือกระทรวงการคลังต้องการส่งรายชื่อบุคคลเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนจะต้องส่งบุคคลนั้นๆเข้าไปเป็นคณะกรรมการในบริษัทการบินไทยเสียก่อน

ทั้งนี้ แม้ลูกหนี้จะส่งรายชื่อบุคคลเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนแล้วก็ตาม ทางฝ่ายเจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอคัดค้านต่อศาลได้หากไม่เห็นด้วย ดังนั้น บุคคลที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม

ปัจจุบันการบินไทยมีหนี้อยู่ประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกนี้ในประเทศอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 30%

โยนหุ้นนอกกระดาน

แหล่งข่าวจากที่ประชุมบอร์ดกองทุนวายุภักษ์ กล่าวว่า ราคาซื้อขายที่ 4 บาท ประเมินจากราคาตามมูลค่าและส่วนลดราคาย้อนหลัง 7 วัน มาประกอบกัน โดยส่วนลดอยู่ที่ประมาณ 10-15% ซึ่งเป็นการซื้อขายกันนอกกระดาน เนื่องจากส่วนลดที่ได้มามากกว่าเกณฑ์ที่ก.ล.ต.กำหนด

“เราประเมินว่า การบินไทยในอีก2ปีข้างหน้า หรือในปี2565 หลังจากนั้นจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเป็นปกติและอาจมีกำไรได้ด้วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19ด้วย คงไม่ใช่แค่การฟื้นฟูเท่านั้น”

เร่งการบินไทยสรุปหนี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ความคืบหน้าการยื่นฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ของการบินไทย ในขณะนี้ต้องจัดหาคนทำแผนฟื้นฟูให้เร็วที่สุด ซึ่งจากการประชุมร่วมกับผู้บริหารการบินไทย ได้มอบหมายให้การบินไทยทำการรวบรวมรายชื่อเสนอมาในวันจันทร์ที่ 25 พ.ค.นี้ โดยบุคคลที่จะทำการเสนอมานั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการบิน

ขณะที่การจัดหาที่ปรึกษาด้านการเงิน และด้านกฎหมาย ตนได้สั่งการให้การบินไทยจัดหาแบบมีธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้ เพราะเจ้าหนี้จะต้องเข้ามาตรวจสอบแผนทั้งหมดนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้การบินไทยจัดทำบัญชีเจ้าหนี้ และลูกหนี้ แจกแจงรายละเอียดให้ชัดว่า เจ้าหนี้เป็นใคร ครบดีลต้องจ่ายเมื่อไหร่ เงื่อนไขสัญญาเขียนอย่างไร

“เรื่องของพนักงานวันนี้ทุกคนเราต้องมาดูกันแล้วว่าควรจะเฉลี่ยทุกข์สุขกันยังไง ต้องยอมรับว่าทุกคนต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริง จากที่เคยได้เช่นเดิม แต่บริษัทไม่มีเงินให้ จะทำไง เพราะตอนนี้เหลือเงินอยู่ 1 หมื่นนิดๆ กับค่าใช้จ่ายต่อเดือน 6 พันล้าน มันผิดตั้งแต่ต้น ให้ไปดูและเจรจา วันนี้ผมบอกเลยว่า ถ้าเจ้าหนี้เห็นว่าฟื้นได้ ใครเข้าก็ต้องพูดว่าเจรจาได้ และเรื่องเชื่อมั่นของพนักงาน เราก็เจรจาได้ ต้องคิดสิว่าจะทำอะไร”

“คมนาคม”เร่งเคลียร์ข้อกฎหมาย

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแลการบินไทย วันนี้ทำทุกอย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การบินไทยมีปัญหา กระทรวงการคลังเสนอค้ำประกันเงินกู้ แต่กระทรวงคมนาคม เล็งเห็นว่าถ้าทำแอคชั่นแพลนต้องเอาให้ชัด และเมื่อการบินไทยส่งแอคชั่นแพลนมาให้พิจารณา ก็เห็นว่ามีความเสี่ยง 23 เรื่อง กระทรวงคมนาคมจึงสั่งการให้กลับไปทำมาใหม่ แต่เมื่อไม่ดำเนินการก็มีทางออกเพียงปล่อยเลยล้ม กับยื่นแผนฟื้นฟู

“พอเข้า คนร.เราก็เสนอว่า คลังต้องลดหุ้น เพื่อพ้นเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อตั้งคนเป็นโปรเฟชชั่นนอลมานั่ง บริหารแบบคล่องตัว ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องก็ให้ไปดู พอที่ประชุมเห็นด้วย กลับมีความเห็นกระทรวงการคลังมาอีกว่า กระทรวงคมนาคมต้องกำกับดูแลการบินไทย ซึ่งเราก็งงว่าจะกำกับได้อย่างไร ถ้าจะให้เรากำกับคลังต้องมอบฉันทะมาให้กระทรวงคมนาคม ซึ่งเราก็ขอถามไปแล้ว และก็หารือกับ รมว.คลัง ซึ่งบอกว่าจะใช้สิทธิผู้ถือหุ้นเสนอเองให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแล”

หมดอำนาจดูแลการบินไทย

ทั้งนี้ เรื่องการเสนอรายชื่อผู้ทำแผน และการกำกับดูแลการบินไทย นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดไปแล้วให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง 

นอกจากนี้ หากกระทรวงการคลังปรับลดสัดส่วนหุ้น ตามกฎหมายแล้ว กระทรวงคมนาคมก็จะไม่สามารถดำเนินการต่างๆ กำกับดูแลการบินไทยได้ เพราะไม่มีอำนาจ ถ้าจะให้ทำตาม มติ ครม.แบบนั้น ก็จำเป็นต้องทำหนังสือมอบฉันทะ หรือหากกระทรวงการคลังจะใช้วิธียื่นข้อเสนอในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ต้องขอปรับแก้ มติ ครม.

“ตอนที่ยังไม่มีการขายหุ้น คมนาคมก็เข้าไปมีสิทธิกำกับดูแลอยู่ ผมก็ประชุมสั่งการได้ตามเดิม ซึ่งก็ได้สั่งให้การบินไทยเร่งรวบรวมรายชื่อผู้ทำแผน ตอนนี้กระทรวงการคลังเขาบอกจะทำเอง ผมก็ไม่ว่า เพราะคมนาคมเห็นแค่ว่าการบินไทยต้องฟื้นได้ ด้วยการเข้าสู่ศาลล้มละลาย เพราะเราเห็นตัวอย่างแล้ว ในโลกก็มีให้เห็นเยอะ หลายสายการบิน เราทำตามหน้าที่จนสุดทางแล้ว”

ชงชื่อ“ถาวร-ชัยวัฒน์”

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อมาบูรณาการระหว่างกระทรวงคลังและกระทรวงคมนาคม เพราะเมื่อใดที่กระทรวงคลังโอนหุ้นไป กระทรวงคมนาคมก็จะหมดวาระในการดูแลการบินไทย ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงฯ จะเสนอรายชื่อ 4 คนที่มีความเหมาะสมไปเป็นคณะทำงานดังกล่าว ประกอบไปด้วย

1.นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องจากเป็นผู้กำกับดูแลการบินไทย และทราบปัญหาภายในองค์กรอยู่แล้ว

2.นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม

3.นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฟื้นฟูองค์กรมาก่อนหน้านี้ และ

4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความรู้ความสามารถในด้านกฎหมายอยู่แล้ว โดยตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม จะเข้าไปเป็นตัวแทนในคณะทำงานชุดของรองวิษณุ เพื่อคุยกันว่ากระทรวงคมนาคมจะทำอะไร และกระทรวงการคลังจะทำอะไร

เร่งสรุปชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟู

อีกทั้งคณะทำงานชุดนี้ ยังมีหน้าที่ในการเสนอรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพิจารณาด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าทีมผู้จัดทำแผนควรจะมีประมาณ 3-5 คน ส่วนที่ก่อนหน้านี้เคยประเมินว่าอาจต้องเสนอไปถึง 15 รายชื่อ เพราะประเมินจากตำแหน่งโครงสร้างผู้บริหารของการบินไทย

“กระทรวงคลังไม่มอบฉันทะ เขาจะใช้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นในการเสนอให้กระทรวงคมนาคมดูแลการบินไทย ดังนั้นก็อยู่ที่คณะทำงานของ อ.วิษณุ ว่าจะดำเนินการอย่างไร สภาพคล่องของการบินไทย คณะ อ.วิษณุ ก็จะเป็นผู้เสนอนายกฯ และนายกฯ ก็จะบอกคลัง ให้กระทรวงคลังไปดูว่าจะเสริมสภาพคล่องหรือไม่ หรือทำอะไร”